ประกาศผลการตัดสิน ประจำปี 2551

     วันนี้     (21 พ.ย.2551)   เวลา 11.00 น.         ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ธีรวัฒน์  กุลทนันทน์   คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์       นายวรเดช   วีระเวคิน  รองอธิบดีกรมสารนิเทศ  ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ   และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์      ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล    ครั้งที่ 17    ประจำปี  2551   ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก   ตึกสยามินทร์  ชั้น 2   โรงพยาบาลศิริราช              
     ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์  ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แซจิโอ เอ็นริเก้  เฟเรย์ร่า  (Professor  Sergio Henrique Ferreira)      สาขาการสาธารณสุข    ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ มิชิอากิ ทาคาฮาชิ  (Professor Michiaki Takahashi) และศาสตราจารย์นายแพทย์ หยู  หย่งซิน   (Professor Yu  Yongxin)  
     ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551 ทั้งสิ้น    จำนวน   49 ราย  จาก  19   ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2551, 2550, 2549 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  2551   โดยระยะเวลา 16 ปี ที่ผ่านมา    มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น  48  ราย     ในจำนวนนี้  มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา  คือ  ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่  เจมส์  มาร์แชล   และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮารัลด์  ซัวร์  เฮาเซน  
     รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  โดยการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา โดยผู้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล  ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ   จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2551  ในวันที่  28  มกราคม  พ.ศ.2552    ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ 27 มกราคม พ.ศ.2552  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2551
สาขาการแพทย์

     ศาสตราจารย์นายแพทย์ แซจิโอ เอ็นริเก้ เฟเรย์ร่า  (Professor Sergio Henrique Ferreira)  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เมืองริเบเรา เปรโต  มหาวิทยาลัยเซาเปาโล  ประเทศบราซิล
 ศาสตราจารย์นายแพทย์ เฟเรย์ร่า  เป็นผู้ค้นพบโปรตีนเปปไทด์จากพิษงูชนิดหนึ่งของประเทศบราซิล  ซึ่งมีฤทธิ์ลดความดันโลหิตได้  นำไปสู่การศึกษาพัฒนายาในกลุ่ม ACEI  ซึ่งยาตัวแรกคือ Captopril  ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่ามีประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตสูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวานที่มีความดันโลหิตสูงร่วมกับความเสื่อมของไต  สามารถลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากภาวะหัวใจล้มเหลวได้มาก
 นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์แซจิโอ เอ็นริเก้ เฟเรย์ร่า  ยังได้ค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (non-steroidal anti-inflamnary drungs (NSAID = เอนเสด)  และศึกษากลไกขั้นพื้นฐานที่เกี่ยว ข้องในการอักเสบ  นำไปสู่การค้นพบยาในกลุ่ม COX-2  inhibitors  เป็นความก้าวหน้าในวงการยากลุ่มเอนเสดอย่างมาก
 ผลงานของ ศาสตราจารย์นายแพทย์แซจิโอ  เอ็นริเก้  เฟเรย์ร่า  เป็นที่ยอมรับกว้างขวางทั่วโลก  ยากลุ่ม ACEI  และ COX-2  inhibitor  เป็นยาที่มีการสั่งใช้มากที่สุดตัวหนึ่ง  ช่วยบรรเทาการเจ็บปวดและการอักเสบ  ตลอดจนช่วยชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

สาขาการสาธารณสุข

     ศาสตราจารย์นายแพทย์มิชิอากิ  ทากาฮาชิ  (Professor  Michiaki  Takahashi)  ศาสตราจารย์เกียรติคุณและประธานกรรมการ มูลนิธิวิจัยโรคติดเชื้อ  มหาวิทยาลัยโอซาก้า  ประเทศญี่ปุ่น
 ศาสตราจารย์นายแพทย์ทากาฮาชิ  ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยจนสามารถแยกเชื้อไวรัสจากโลหิตของเด็กชายอายุ 3 ขวบได้  ตั้งชื่อว่าสายพันธ์โอกะ (Oka) ตามชื่อของเด็กชายนั้น  นำไปผ่านขบวนการขยายพันธุ์ในเซลล์เพาะเลี้ยง  เพื่อให้อ่อนแรงลง  แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันป้องกันไข้สุกใสได้ดี  ได้มาตรฐานชีววัตถุตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก  เป็นที่ยอมรับและถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก เช่นประเทศญี่ปุ่น เกาหลี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส  รวมทั้งประเทศไทยด้วย  ช่วยให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนนี้ เมื่อป่วยเป็นไข้สุกใส  จะไม่ค่อยมีไข้ ไม่ค่อยเกิดแผลเป็น  และหายป่วยเร็วกว่า  นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่ได้รับวัคซีนนี้  เมื่อมีอายุมากขึ้นจะมีอุบัติการณ์และความรุนแรงของโรคงูสวัดน้อยกว่าเด็กที่เป็นไข้สุกใสตามธรรมชาติ ในผู้ใหญ่อายุมากกว่า 60 ปี วัคซีนนี้สามารถป้องกันการเกิดโรคงูสวัด ลดอาการแทรกซ้อนและป้องกันการลุกลามของโรคได้  จึงมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนนี้จะถูกนำมาใช้ป้องกันโรคงูสวัดในคนสูงอายุด้วย
 ไข้สุกใส หรือไข้อีสุกอีใส เป็นโรคซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส Varicella-zoster  ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มไวรัส Herpes  อาการของโรค  เริ่มด้วยมีไข้  ปวดศีรษะ  เบื่ออาหาร  และมีผื่นขึ้นที่ผิวหนัง  พบได้ทั่วทุกภูมิภาคของโลก  พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยทั่วไปไม่มีอาการรุนแรง  แต่ติดต่อได้ง่าย  อาการแทรกซ้อนที่พบไม่บ่อยคือ สมองอักเสบ  ปอดอักเสบ  ถ้าเป็นในผู้ใหญ่จะมีอาการรุนแรงและระยะเวลานานกว่า

 ผลการคิดค้นวาริเซลล่าวัคซีนของ ศาสตราจารย์นายแพทย์มิชิอากิ ทากาฮาชิ  นำไปสู่การใช้วัคซีนป้องกันไข้สุกใส  อย่างกว้างขวางทั่วโลก  บรรเทาความทุกข์ทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ตลอดจนลดอัตราตายจากไข้สุกใสของประชากร โดยเฉพาะเด็ก ๆ นับร้อยล้านคนทั่วโลก

 ศาสตราจารย์นายแพทย์ หยู หย่งซิน  (Professor  Yu  Yongxin) ผู้อำนวยการเกียรติคุณ  แผนกวัคซีนไวรัส  สถาบันควบคุมชีวเภสัชภัณฑ์แห่งชาติ  สาธารณรัฐประชาชนจีน  
 ศาสตราจารย์นายแพทย์หยู  หย่งซิน  ใช้เวลากว่าสามทศวรรษในการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนไข้สมองอักเสบ  (Japanese Encephalitis vaccine)  สายพันธุ์ SA 14-14-2  โดยผลิตจากเซลล์ไตของหนูแฮมสเตอร์  นำมาทดสอบในสัตว์ทดลองก่อนนำไปใช้ในคน  พบว่ามีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  และมีความปลอดภัยสูงในการป้องกันโรคไข้สมองอักเสบในเด็กได้  ทางการสาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้นำวัคซีนไข้สมองอักเสบฉีดให้เด็กมากกว่า 200 ล้านคน  ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นต้นมา  และได้แพร่ขยายไปยังประเทศอินเดีย  เกาหลี  ศรีลังกา  และเนปาล  รวมทั้งประเทศไทยด้วยอีกหลายสิบล้านคน  ทำให้การแพร่ระบาดของโรคนี้ในทวีปเอเชียลดลงได้มาก   
 โรคไข้สมองอักเสบ จีอี  จัดเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญที่สุดในกลุ่มโรคไข้สมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่แมลงเป็นพาหะนำโรค  ซึ่งไม่มียารักษา  แต่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน  พบการแพร่ระบาดในทวีปเอเชีย  ได้แก่ประเทศอินเดีย  พม่า  ลาว  ไทย  กัมพูชา  ฟิลิปปินส์  มาเลเซีย  สิงคโปร์  จีนและประเทศอื่น ๆ อีก  โรคเคยระบาดในญี่ปุ่น  เกาหลี   ใต้หวัน  แต่ปัจจุบันประเทศดังกล่าวควบคุมโรคนี้ได้ผู้ติดเชื้อไวรัสเจอี ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ  อาการที่พบเป็นอาการทางสมองคือเยื้อหุ้มสมองและสมองอักเสบส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการ  นับตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขบรรจุวัคซีนพื้นฐานไว้ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันของประเทศไทยปัจจุบันพบผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบ เจอี ลดน้อยลงมาก
 ผลการศึกษาค้นคว้าและพัฒนาวัคซีนไข้สมองอักเสบของ  ศาสตราจารย์นายแพทย์หยู หย่งซิน  นำไปสู่การป้องกันโรคที่ไม่มียารักษาได้ช่วยให้ผู้ป่วยทั่วภาคพื้นทวีปเอเชียรอดพ้นจากการเสียชีวิตหรือพิการได้หลายร้อยล้านคน

 

นายแพทย์ สุพัฒน์  วาณิชย์การ
 เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
21 พ.ย. 51