พระราชประวัติสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฉบับสมบูรณ์

His Royal Highness Prince Mahidol of Songklaสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 69 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และองค์ที่ 7 ในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระราชสมภพ
วันศุกร์ เดือนยี่ ปีเถาะ ขึ้น 3 ค่ำ ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2434 ในพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระราชชนกนาถพระราชทานพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ”

ทรงผนวช
ทรงผนวชเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2447 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระราชอุปธยาจารย์ ประทับ ณ พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงลาผนวช วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2447

 

การศึกษา

    • การศึกษาเบื้องต้น เมื่อทรงพระเยาว์ ทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชกุมาร ใน พระบรมมหาราชวัง
    • พ.ศ. 2447 โรงเรียนนายร้อยชั้นประถม
    • พ.ศ. 2448 โรงเรียนกินนอน แฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ
    • พ.ศ. 2450 Royal Prussian Military College ณ เมือง Potsdam ประเทศเยอรมัน แล้วทรงย้ายไปเรียน ณ Imperial German Naval College, Flensbourg
    • พ.ศ. 2454 ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือ โดยทรงสอบไล่ปีสุดท้ายได้ที่ 2 และทรงชนะการประกวดออกแบบเรือดำน้ำ
    • พ.ศ. 2460 ทรงศึกษาเตรียมแพทย์ ณ มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา
    • พ.ศ. 2462 ทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขและวิชาปรีคลินิคบางส่วน ที่ School of Health Officer ของมหาวิทยาลัย Harvard ร่วมกับ M.I.T.
    • พ.ศ. 2463 เสด็จนิวัติพระนคร เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรี

พัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง

  • พ.ศ. 2464 ทรงสำเร็จการศึกษาสาธารณสุข ทรงได้รับประกาศนียบัตร C.P.H.
  • พ.ศ. 2466 ทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อ ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh, Scotland แต่ประชวร เพราะอากาศหนาวจัด จึงเสด็จนิวัติพระนครอีกครั้งหนึ่ง
  • พ.ศ. 2469 ทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อ ที่มหาวิทยาลัย Harvard
  • พ.ศ. 2471 เดือนมิถุนายน ทรงสำเร็จวิชาแพทย์ ทรงได้รับปริญญา Doctor of Medicine (M.D.) เกียรตินิยมชั้น Cum Laude และทรงได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมาคม เกียรตินิยมทางการศึกษาแพทย์ Alpha Omega Alpha
  • วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2471 เสด็จกลับถึงกรุงเทพฯ

พระราชอิสริยศักดิ์
พ.ศ. 2446 ภายหลังโสกันต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จเจ้าฟ้าชายมหิดลอดุลยเดชฯ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าต่างกรม มีพระนามตามพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณทราชาวรางกูร สมบูรณ์เบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิฏฐ์บุรุษ ชนุดมรัตรพัฒนศักดิ์ อัครราชวรกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์” มุสิกนาม ให้ทรงศักดินา 40,000 ตามพระราชกำหนด อย่างสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรม

พ.ศ. 2472 วันที่ 30 พฤศจิกายน (ภายหลังสวรรคตแล้ว) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์”

พ.ศ. 2477 วันที่ 25 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงสถาปนาขึ้นเป็น“สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์”

พ.ศ. 2513 วันที่ 9 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศเฉลิมพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา ตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก” ทรงพระราชฐานันดรศักดิ์เสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้า

พระราชอิสริยยศ
พระยศทหารเรือ แห่งราชนาวีเยอรมัน
1. นายเรือตรี พ.ศ. 2454
พระยศทหารเรือ แห่งราชนาวีสยาม
1. นายเรือตรี วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2454
2. นายเรือโท วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2469
3. นายนาวาเอก วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2469
4. จอมพลเรือ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2541
พระยศทหารบก
1. นายพันโท พ.ศ. 2467
2. นายพันเอก พ.ศ. 2469
พระยศเสือป่า
1. นายกองโท นายเสือป่าพิเศษ กองเสือป่าหลวง พ.ศ. 2466
2. นายกองเอก กรมนักเรียนแพทย์เสือป่า พ.ศ. 2467
พระยศพลเรือน
1. มหาอำมาตย์ตรี (กระทรวงศึกษาธิการ) พ.ศ. 2467

His Royal Highness Prince Mahidol of Songklaราชองครักษ์
1. นายพันเอก ราชองครักษ์พิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ 1 จ.ป.ร. และ
2. นายนาวาเอก ราชองครักษ์พิเศษ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2469

ตำแหน่งราชการ

  1. ประจำราชนาวีเยอรมัน พ.ศ. 2454-2457
  2. สำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2458 – 9 สิงหาคม พ.ศ. 2485
  3. ประจำกองอาจารย์โรงเรียนนายเรือ แผนกแต่งตำรา วันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2458 ถึงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2459 (ทรงลาออกจากทหารเรือ)
  4. อธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ (ผู้บังคับบัญชาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) วันที่ 11 ตุลาคม – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2467
  5. ข้าหลวงตรวจการศึกษาทั่วไป กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2467 จนสวรรคต
  6. นายกกรรมการ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2468

ตำแหน่งราชการพิเศษ

  1. กรรมการสภากาชาดสยาม
  2. กรรมการกิตติมศักดิ์ วชิราวุธวิทยาลัย
  3. กรรมการปกครอง และประธานกรรมการอำนวยการวชิรพยาบาล
  4. พระอาจารย์พิเศษ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชากายวิภาคเปรียบเทียบ ประวัติศาสตร์ และจุลกายวิภาคศาสตร์
  5. พระอาจารย์พิเศษ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ทรงสอนวิชาสุขาภิบาล และมารดาทารกสงเคราะห์

ทรงงานในฐานะแพทย์
แพทย์ประจำ โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เชียงใหม่ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2472 ถึงวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2472

อภิเษกสมรส
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ อภิเษกสมรสกับ นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฎ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) และเสด็จฯ มาพระราชทานน้ำสังข์ เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ณ วังสระปทุม

Prince Mahidol Prince Mahidol

พระราชโอรส และพระราชธิดา

  1. สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
  2. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมันนี
  3. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชสมภพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา

การประชวร

  1. ประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการเรื้อรัง ในปี พ.ศ. 2466 แพทย์ในยุโรปคนหนึ่งกราบทูลว่า จะทรงมีพระชนม์ชีพอีกเพียง 2 ปี
  2. ประชวรด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ ก่อนการสอบไล่เพื่อปริญญาแพทย์ เมื่อปี พ.ศ. 2470 แพทย์ต้องถวายการผ่าตัดเมื่อทรงสอบไล่แล้ว
  3. ประชวรด้วยโรคฝีบิดในพระยกนะ (ตับ) เมื่อปี พ.ศ. 2472 ประชวรอยู่ 4 เดือน มีโรคแทรกซ้อนคือ พระอาการบวมน้ำในพระปัปผาสะ (ปอด) และพระหทัยวาย

สวรรคต
เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 เวลา 16.45 น. พระชนมายุ 37 ปี 8 เดือน 23 วัน

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

  1. มหาจักรีบรมราชวงศ์
  2. ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ
  3. นพรัตน์ราชวราภรณ์
  4. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5
  5. เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6
  6. เหรียญราชาภิเษก ทอง รัชกาลที่ 7

พระราชนิพนธ์สำคัญทางการแพทย์

  1. “โรคทูเบอร์คูโลสิส” พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ จอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงศ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พ.ศ. 2463
  2. “วิธีปฏิบัติการสุขาภิบาล” ทรงแสดงในการอบรมแพทย์สาธารณสุข พ.ศ. 2467
  3. “Diphyllobothrium Latum in Massachusetts” A Report of Two Indigenous Cases:, JAMA: 90: 1607-1608, May 19, 1928

ความตั้งพระทัยในการเป็นแพทย์เฉพาะทางของสมเด็จพระบรมราชชนก
สมเด็จพระบรมราชชนกมีพระประสงค์จะทรงศึกษา และปฏิบัติงานต่อทางวิชากุมารเวชศาสตร์ ในสหรัฐอเมริกาอีกระยะหนึ่ง แต่ต้องเสด็จกลับประเทศไทยเพราะพระราชภารกิจ และเพราะพระอนามัยทรุดโทรม

พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนก
พระราชกรณียกิจในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ การศึกษาพยาบาล และการปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช

  1. ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลสยาม ทำความตกลงกับมูลนิธิร็อคกี้เฟลเล่อร์ ในการปรับปรุงการศึกษาแพทย์ของประเทศสยาม โดยทางมูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือดังนี้
    • มูลนิธิฯ ส่งศาสตราจารย์ 6 คน เข้ามาจัดหลักสูตร และปรับปรุงการสอนในวิชากายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา อายุรศาสตร์ ศัลยศาสตร์ สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ของคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    • มูลนิธิฯ ให้ทุนค่าก่อสร้างและซื้ออุปกรณ์เป็นเงิน 130,000 เหรียญ โดยทางรัฐบาลสยามต้องออกเงินสมทบประมาณเท่ากัน
    • มูลนิธิฯ จะให้ทุนอาจารย์ไทย ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ และต่อมามูลนิธิฯ ได้เสนอให้รัฐบาลสยามปฏิบัติ และให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม คือ
      • ให้ปรับปรุงอัตราเงินเดือนแพทย์ให้สูงขึ้น
      • ย้ายการสอนปรีคลินิคมารวมกับคลินิคที่ศิริราช
      • ช่วยปรับปรุงการสอนเตรียมแพทย์ ในคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยส่งศาสตราจารย์เข้ามาปรับปรุงหลักสูตร และทำการสอนในวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และภาษาอังกฤษ รวมทั้งให้ทุนอาจารย์ไทยไปศึกษาต่อในต่างประเทศ
      • ให้เลือกบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าแผนกแทนศาสตราจารย์ของมูลนิธิฯ และส่งไปศึกษาต่อ
      • ช่วยปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล โดยมูลนิธิฯ ส่งอาจารย์พยาบาลเข้ามาช่วยปรับปรุงหลักสูตรและการสอน
    • พระราชทานทุนการศึกษาส่วนพระองค์ ให้แพทย์และพยาบาลประมาณ 10 ทุน
    • พระราชทานทุนสร้างตึกมหิดลบำเพ็ญ จำนวน 83,584.14 บาท สร้างตึกอำนวยการจำนวน 97,452.94 บาท (ครึ่งของค่าก่อสร้างแทนรัฐบาล)
    • ทรงซื้อโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง และพระราชทานเงินซ่อมแซม แล้วพระราชทานให้เป็นโรงเรียนพยาบาล และที่พักพยาบาลของศิริราช เป็นเงิน 85,000.00 บาท
    • พระราชทานเงินสำหรับจ้างพยาบาลชาวต่างประเทศ มาช่วยสอน และปรับปรุงโรงเรียนพยาบาล เป็นเงิน 25,000.00 บาท
    • พระราชทานเงิน 3,840.00 บาท ตั้งเป็นทุนสอนและค้นคว้าในคณะฯ
    • พระราชทานเงินแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 200,000.00 บาท เป็นทุนวิทยาศาสตร์การแพทย์ และทรงทำพินัยกรรมให้ทายาทให้เงินสมทบอีก 500,000.00 บาท เป็นทุนพระราชมรดกฯ เพื่อส่งอาจารย์ทั้งวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และวิชาแพทย์ ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ เพื่อกลับมาเป็นอาจารย์ ทุนนี้ต่อมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โอนมาให้ศิริราช มีอาจารย์ทั้งของศิริราช และคณะวิทยาศาสตร์จุฬาฯ ได้ทุนนี้ 23 คน
    • ทรงหาทุนสำหรับศิริราช โดย
      • พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 180,000.00 บาท สร้างตึก 2 หลัง สำหรับแผนกสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา แล้วพระราชทานชื่อว่า “ตึกตรีเพชร” และ “ตึกจุฑาธุช” เพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าตรีเพชรรุตม์ธำรง และสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพชรบูรณ์อินทราชัย ตามลำดับ
      • กราบทูลขอความช่วยเหลือจากพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นผลให้
        • สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชทานเงินจำนวน 17,650.18 บาท เพื่อสร้างท่อประปา ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากฝั่งพระนครมายังศิริราช และ 13,309.68 บาท เพื่อสร้างท่อระบายน้ำ และยังพระราชทานทุนให้นิสิตแพทย์และพยาบาล
        • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประทานเงินสร้างตึกพระองค์หญิง ซึ่งเป็นตึกผู้ป่วยเด็ก ตึกแรกของศิริราช เป็นเงิน 14,600.00 บาท (ถูกระเบิดทำลายหมดในสงครามโลกครั้งที่ 2)
        • สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ประทานที่ดินสร้างหอพักนักศึกษาแพทย์ (หอชาย 1)

พระราชกรณียกิจในการปรับปรุงโรงพยาบาลอื่นๆ

Siriraj

  1. ทรงเป็นประธานอำนวยการวชิรพยาบาล ได้ทรงวางโครงการ 4 โครงการ ในการปรับปรุงโรงพยาบาลแห่งนี้ รวมทั้งทรงเขียนแปลนการก่อสร้างเพิ่มเติมให้ เมื่อปี พ.ศ. 2472 และพระราชทานทุนให้แพทย์ไปเรียนวิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา เพื่อกลับมาประจำโรงพยาบาลนี้อีกด้วย
  2. พระราชทานทุน 16,000.00 บาท ให้โรงพยาบาลแมคคอร์มิค เพื่อจ้างแพทย์ชาวต่างประเทศ 1 คน และประทานเงินอีก 6,750.00 บาท เพื่อเป็นทุนซื้อเครื่องเอ็กซเรย์ประจำโรงพยาบาล
  3. พระราชทานเงินปีละ 5,000.00 บาท ให้โรงพยาบาลสงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2468 จนสวรรคต

McCormick

 

พระราชกรณียกิจในการปรับปรุงการสาธารณสุข

  1. ทรงร่วมในการพิจารณาพระราชบัญญัติการแพทย์ พ.ศ. 2466 โดยทรงแก้ไขข้อขัดข้อง และความขัดแย้งต่างๆ จนลุล่วงไปด้วยดี ทำให้กฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายการแพทย์ฉบับแรกประกาศใช้ได้
  2. ทรงส่งเสริมการมารดาและทารกสงเคราะห์ โดยทรงวางโครงการให้ดัดแปลงวชิรพยาบาล เป็นโรงพยาบาลคลอดบุตร เป็นศูนย์อบรมศึกษาพยาบาลผดุงครรภ์ พยาบาลสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ และหมอตำแย เพื่อจะได้มีผู้ทำงานด้าน มารดา และทารกสงเคราะห์ เพิ่มขึ้น
  3. ทรงช่วยในการอบรมแพทย์สาธารณสุขมณฑล ในปี พ.ศ. 2467 โดยทรงสอนวิชาปฏิบัติการสุขาภิบาล ทั้งภาคทฤษฎีและการอบรมภาคสนาม

พระราชกรณียกิจอื่นๆ เกี่ยวกับวิชาการแพทย์ และวิชาที่เกี่ยวเนื่อง

  1. ทรงสนับสนุน ม.จ. พูนศรีเกษม เกษมศรี ในการรับนิสิตแพทย์หญิง
  2. ทรงมีพระดำริจะสร้างโรงเรียนสาธารณสุข ในโอกาสต่อไป
  3. พระราชทานทุนศึกษาทันตแพทย์ 1 ทุน ท่านผู้นี้ภายหลังเป็นบุคคลสำคัญในด้านการสร้างคณะทันตแพทยศาสตร์ และมีรับสั่งกับนายแพทย์วาด แย้มประยูร ซึ่งสำเร็จทั้งแพทย์และทันตแพทย์ว่า จะพระราชทานทุนในการตั้งโรงเรียนทันตแพทย์

พระราชกรณียกิจต่อการศึกษาวิชาอื่นๆ

  1. การประมง พระราชทานเงินจำนวน 100,000.00 บาท ให้กรมประมงส่งคนไปเรียนวิชาการประมง จำนวน 3 คน กรมประมงมีความสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง Dr. H. M. Smith ซึ่งเป็นที่ปรึกษากรมประมง สำรวจพบปลาบู่พันธุ์ใหม่ ที่จับได้ที่อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี จึงตั้งชื่อว่า Mahidolia Normani เมื่อปี พ.ศ. 2475
  2. กรมสามัญศึกษา พระราชทานทุนให้โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย จ้างครูชาวต่างประเทศ 1 คน

พระราชประวัติโดยสังเขปสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล