ผลการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2560

วันนี้ (๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐) เวลา ๑๓.๓๐ น. ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นางสาวบุษฎี  สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ครั้งที่ ๒๖ ประจำปี  ๒๕๖๐  ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น ๒ โรงพยาบาลศิริราช ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล

 

     สาขาการแพทย์      โครงการจีโนมมนุษย์   (The Human Genome Project)  จากประเทศสหรัฐอเมริกา

 

     สาขาการสาธารณสุข   ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ (Prof. Porter W. Anderson, Jr.)

  •      นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์  (Dr. John  B. Robbins)
  •      แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน   (Dr. Rachel  Schneerson)
  •      ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม  (Prof. Mathuram  Santosham)

     จากประเทศสหรัฐอมเริกา

 

 

ทั้งนี้     มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๐  ทั้งสิ้น  ๔๕ ราย  จาก  ๒๗  ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ  ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม ๓ ปี คือปี ๒๕๖๐,๒๕๕๙,๒๕๕๘ และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน  ๒๕๖๐

 

    

    

     โดยระยะเวลา ๒๖ ปีที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น  ๗๔ ราย  ในจำนวนนี้มีผู้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล รวม ๔ ราย  โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ประจำปี ๒๕๕๘  ผู้ได้รับรางวัล ๒ ใน ๓ คน  เคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลมาก่อน  คือ ศาสตราจารย์ซาโตชิ  โอมูระ ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๔๐ จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิดหนึ่งชื่อ Streptomyces avermitilis  จนสามารถสังเคราะห์ยา Ivermectin ใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง และ ศาสตราจารย์ตู โยวโยว เป็นสมาชิกของกลุ่ม China Cooperative Research Group on  Qinghaosuand  its  Derivatives  as  Antimalarials ซึ่งได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๔๖ จากผลงานสารสกัดชิงเฮาซู จนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย

     ในอดีตอีก ๒ ราย คือ   ศาสตราจารย์นายแพทย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย  ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  สาขาการสาธารณสุข ประจำปี ๒๕๔๔  จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารเป็นแผล ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ในปี ๒๕๔๘ ด้วยการค้นพบเดียวกัน

     อีกท่าน คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์  ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๔๘   จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก   ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี ๒๕๕๑ จากการค้นพบเดียวกัน

     และ ๑ ราย  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมา  คือ  แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน  รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ปี ๒๕๔๑     และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ๔ ราย  คือศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์  ตู้จินดา และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา  นิมมานนิตย์  รับพระราชทาน ปี ๒๕๓๙  และนายแพทย์วิวัฒน์  โรจนพิทยากร  และนายมีชัย  วีระไวทยะ  รับพระราชทาน ปี ๒๕๕๒

 

 

    

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี  แห่งการพระราชสมภพ  ๑ มกราคม ๒๕๓๕  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน  มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ   ด้านการแพทย์ ๑ รางวัล  และการสาธารณสุข  ๑ รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา  แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล,  ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล  ๑๐๐,๐๐๐  เหรียญสหรัฐ

    

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์  พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี ๒๕๖๐   ในวันพุธที่ ๓๑ มกราคม  พ.ศ. ๒๕๖๑   ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  โดยในวันอังคารที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ  ในผลงานที่ได้รับด้วย

 


 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๐ 
สาขาการแพทย์
 
โครงการจีโนมมนุษย์ 
 
     
 
     โครงการจีโนมมนุษย์ (The Human Genome Project) เป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่มีส่วนสำคัญในความก้าวหน้าทางความรู้ที่เกี่ยวกับพันธุศาสตร์และรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ โครงการดังกล่าวเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ นำโดยสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ ในสังกัดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยได้รับความร่วมมือจากคณะนักวิจัยจาก ๒๐ สถาบันใน ๖ ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เยอรมนี สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน โครงการนี้ได้แถลงประกาศความสำเร็จของโครงการ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยข้อมูลรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์เป็นข้อมูลชีวภาพขนาดใหญ่ได้จัดเก็บเป็นคลังความรู้ในฐานข้อมูลสาธารณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเข้าถึงได้  
 
    โครงการจีโนมมนุษย์มีภารกิจสำคัญในการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมดของมนุษย์  ซึ่งเป็นกลไกในการกำกับและควบคุมกระบวนการของสิ่งมีชีวิตในทุกขั้นตอน  จึงช่วยให้เข้าใจกลไกการทำงานของเซลล์และอวัยวะต่างๆ  กลไกการกลายพันธุ์ และกลไกการเกิดโรค  องค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจีโนมมนุษย์ รวมถึงเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรม ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางการแพทย์หลายด้าน ทั้งการวินิจฉัยโรคพันธุกรรมที่พบน้อยและถ่ายทอดในครอบครัว ไปถึงโรคที่พบบ่อยในประชากร เช่น โรคมะเร็ง และโรคติดเชื้อ การตรวจคัดกรองในประชากรเพื่อค้นหาผู้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือผู้ป่วยที่เป็นโรคตั้งแต่ระยะแรกๆ เป็นประโยชน์ในการควบคุมหรือป้องกันก่อนการดำเนินโรคจะแย่ลง อีกทั้งช่วยให้เกิดการพัฒนายารักษาโรคที่มีความแม่นยำ เหมาะสมสำหรับปัจเจกบุคคล และทำให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น 
ความรู้ที่ได้จากโครงการจีโนมมนุษย์นั้น  ก่อให้เกิดการพัฒนาในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างก้าวกระโดด และได้รับการยอมรับว่าศาสตร์แขนงนี้มีความสำคัญยิ่งต่อความรู้ความเข้าใจในการเกิดโรคต่างๆ  เปลี่ยนจากการวินิจฉัยและรักษาโรคที่ปลายเหตุ  มาเป็นการวิเคราะห์ต้นเหตุและค้นหาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดโรค เพื่อเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสม  
 
     ความก้าวหน้าทางความรู้ด้านพันธุกรรมของมนุษย์ จากความร่วมมือทุ่มเทค้นคว้าของโครงการจีโนมมนุษย์นี้  ถือเป็นความสำเร็จที่ก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลต่อมวลมนุษยชาติทั่วโลกอย่างชัดเจน
 

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐
สาขาการสาธารณสุข

ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์, นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์
แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน และ ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม
ประเทศสหรัฐอเมริกา

  ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์ ร่วมกับ นายแพทย์เดวิด เฮช สมิธ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และ นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์ ร่วมกับ แพทย์หญิงราเชล ชเนียสัน แห่งสถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา เป็นนักวิจัย ๒ กลุ่ม ที่ได้ศึกษาวิจัยแบบคู่ขนานและเป็นอิสระต่อกันตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓  เกี่ยวกับกลไกก่อโรค และการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮีโมฟีลุส อินฟลูเอนเซ ชนิดบี หรือเรียกสั้นๆ ว่า ฮิบ (Haemophilus influenzae type b หรือ Hib)  ซึ่งเป็นแบคทีเรียสำคัญที่ก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็ก  โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี  โรคดังกล่าวมีอัตราตายสูง และหากรอดชีวิตอาจเกิดความพิการอย่างถาวรได้  วัคซีนชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเป็นวัคซีนชนิดโพลีแซคคาไรด์ ซึ่งเป็นโมเลกุลน้ำตาลที่เป็นส่วนประกอบในแคปซูลของเชื้อ แต่พบว่า วัคซีนโพลีแซคคาไรด์นี้ ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า ๑๘ เดือนซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุดได้  เนื่องจากน้ำตาลเป็นตัวกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี  จึงได้มีการปรับปรุงโดยการนำโมเลกุลโปรตีนมาเชื่อมต่อกับน้ำตาล ซึ่งพบว่าทำให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้นมาก รวมถึงในเด็กเล็ก เรียกว่าวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต (Hib conjugate vaccine) และได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กได้ตั้งแต่อายุ ๒ เดือนตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ เป็นต้นมา

     ศาสตราจารย์ นพ.มธุราม ซานโตชาม แห่งมหาวิทยาลัยจอนห์ ฮอบกินส์  มีบทบาทสำคัญในการศึกษาระบาดวิทยาของโรคติดเชื้อฮิบ และได้แสดงข้อมูลทางคลินิกว่าโรคติดเชื้อฮิบป้องกันได้ด้วยภูมิคุ้มกัน รวมถึงศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันการติดเชื้อฮิบหลายชนิด  ผลการศึกษาดังกล่าวนำไปสู่การผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกตในเด็กทุกคน  ต่อมาได้เป็นผู้วิจัยหลักในโครงการ ฮิบ อินนิชิเอทีฟ (Hib Initiative) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรสนับสนุนการให้วัคซีนทั่วโลก  ซึ่งได้ส่งเสริมให้มีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกตเป็นวัคซีนพื้นฐานได้กว่า ๑๙๐ ประเทศ  

     หลังจากมีการฉีดวัคซีนฮิบชนิดคอนจูเกต พบว่าอัตราการเกิดโรคและการตายจากเชื้อฮิบในเด็กเล็กลดลงกว่าร้อยละ ๙๕-๙๙ และป้องกันการเกิดโรคในเด็กได้กว่าร้อยล้านคนทั่วโลก  องค์การอนามัยโลกได้ประมาณมาณการว่า ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ จะมีเด็กกว่า ๗ ล้านคนที่รอดชีวิตจากเชื้อฮิบเนื่องมาจากการได้รับวัคซีนนี้

     ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อฮิบ จากชนิดโพลีแซคคาไรด์ มาสู่ชนิดคอนจูเกตซึ่งเป็นวัคซีนมาตรฐานในปัจจุบัน ของศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์, นพ.จอห์น บี รอบบินส์ และ พญ.ราเชล ชเนียสัน  รวมถึงผลงานของ  ศาสตราจารย์ นพ.มธุราม ซานโตชาม ในฐานะผู้นำโครงการฮิบ อินนิชิเอทีฟ ซึ่งผลักดันให้มีการฉีดวัคซีนฮิบสำหรับเด็กทุกคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของเด็กหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

 

*GAVI ย่อจาก Global Alliance for Vaccines and Immunization 
**นพ.เดวิด เอช สมิธ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒


 

 ศาสตราจารย์พอร์ทเตอร์ ดับเบิลยู แอนเดอร์สัน จูเนียร์  สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตแบคทีเรียวิทยา จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา  หลังจากนั้นปฏิบัติงานวิจัยและเป็นอาจารย์ที่โรงพยาบาลเด็ก  มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ และอาจารย์อาวุโส    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  สหรัฐอเมริกา

 


 

 นายแพทย์จอห์น บี รอบบินส์  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต  จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา  ฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางโรคติดเชื้อและอิมมูโนวิทยา  เป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนแพทย์อยู่ ๓ ปี แล้วย้ายมาทำงานวิจัยที่สถาบันสุขภาพเด็ก และพัฒนามนุษย์แห่งชาติจนเกษียณอายุ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕


 

แพทย์หญิงราเชล  ชเนียสัน  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต  จากมหาวิทยาลัยฮิบบรู ประเทศอิสราเอล  ต่อมาฝึกอบรมเป็นแพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์  แล้วย้ายมาทำงานวิจัยที่สถาบันสุขภาพเด็กและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ  สหรัฐอเมริกา  จนกระทั่งเกษียณอายุเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๕

 


 

 ศาสตราจารย์นายแพทย์มธุราม ซานโตชาม  สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต  จากมหาวิทยาลัยมัดดราส ประเทศอินเดีย  และสาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ สหรัฐอเมริกา  ฝึกอบรมเฉพาะทางโรคติดเชื้อในเด็ก  หลังจากนั้นปฏิบัติงานที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์  ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์