ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564

วันนี้ (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564)  เวลา 13.30 น.  ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายธานี  แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ  อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2563 ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ชั้น 2 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี  2564 ได้แก่

  1. นางสาวณิชารีย์ มั่นคงพิทักษ์กุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. นายนนทพัทธ์ สุคนธ์พานิช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. นายภรัณยู โอสถธนากร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. นายภูรินท์ อารีย์สว่างกิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. นายยสวัต สุวรรณลิขิต คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2564  ทั้งสิ้น 13 คน จากสถาบันการศึกษาแพทยศาสตร์ 6 แห่ง โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 คน ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณาคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564

 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้งที่ 2/2551 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพแพทย์ให้ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน  ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

***********************************

นางสาวณิชารีย์ มั่นคงพิทักษ์กุล

นางสาวณิชารีย์ มั่นคงพิทักษ์กุล เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่อง การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการฟื้นฟูสายตา ในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตาบอดจากภาวะจอตาเสื่อมสภาพ  เช่น โรค Retinitis pigmentosa โดยมุ่งเน้นศึกษากลไกการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าด้วยอุปกรณ์ retinal prosthesis ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการทำงานของเซลล์รับภาพที่สูญเสียไป ปัจจุบันนี้ มีประชากรทั่วโลกจำนวนกว่า 8 ล้านคน ที่ยังอยู่ในภาวะตาบอดที่ยังไม่มีวิธีการใดๆ ในการรักษา การฟื้นฟูสายตาให้กับผู้ป่วยเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่จะให้ผู้ป่วยเหล่านี้กลับมาช่วยเหลือตนเองได้ การกระตุ้นเรตินาด้วยไฟฟ้าเป็นวิธีการหนึ่งในการฟื้นฟูสายตาที่ต้องการการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะพัฒนากลไกให้ใกล้เคียงการทำงานของจอตามนุษย์มากขึ้น นอกจากนี้ การได้ไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศเป็นระยะเวลาหนึ่งปีจะเป็นโอกาสที่จะได้ไปเปิดโลกทัศน์เกี่ยวกับเทคโนโลยีการฟื้นฟูสายตารูปแบบต่างๆ ศึกษาระบบการดูแลผู้ป่วยตาบอดอย่างครบวงจร และกลั่นกรองเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณสุขไทยให้เหมาะสมที่สุด

 

โดย นางสาวณิชารีย์ มั่นคงพิทักษ์กุล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี 2563  นายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ซึ่งมีพันธกิจเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้และพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาแพทย์ในด้านที่ตนเองสนใจ และสนับสนุนคุณภาพชีวิตของนักศึกษาแพทย์ในด้านปัจจัยพื้นฐานและความปลอดภัยทางด้านจิตใจ เป็นตัวกลางการดำเนินงานระหว่างคณะกรรมการคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1-6 ดูแลและบริหารจัดการกิจกรรมนอกหลักสูตรทั้งภายในและนอกคณะฯ และดูแลการดำเนินงานชมรมทั้งหมดของนักศึกษาแพทย์

ปี 2561  รองประธานฝ่ายวิชาการ โครงการ Siriraj International Medical Microbiology Parasitology and Immunology Competition (SIMPIC) 2019 ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปี 2560  ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ซึ่งเป็นตัวกลางการติดต่อประสานงานระหว่างงานกิจการนักศึกษา ฝ่ายการศึกษาก่อนปริญญา ตัวแทนรายวิชา และนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 และดูแลกิจกรรมที่จัดโดยนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2  และเป็นตัวแทนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางด้านวิจัย ภายใต้การดูแลของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand) ในหัวข้อเรื่อง “Occurrence and distribution of zoonotic viruses in European countries” ณ Department of Virology, University of Helsinki กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย   ได้รับรางวัลเหรียญทอง การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 10 (TChO) ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

นายนนทพัทธ์ สุคนธ์พานิช

นายนนทพัทธ์ สุคนธ์พานิช เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่อง การพัฒนาแนวทางการพยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและความพิการหลังจากเกิดโรค โดยใช้ข้อมูลทางพันธุกรรมของแต่ละบุคคล  โรคหลอดเลือดสมองเป็นโรคที่ก่อให้เกิดความพิการและการเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทยและของโลก ในปัจจุบันเราทราบแล้วว่าหากสามารถกำจัดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ จะสามารถป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้กว่าร้อยละ 90 แต่ในความเป็นจริงนั้น เรายังไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ตามตัวเลขที่มีการศึกษามา นอกจากนี้การพยากรณ์ความพิการหลังเกิดโรค ยังเป็นสิ่งที่ยาก และส่งผลให้การรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังมีผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจนัก ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า Polygenic risk score (PRS) เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีการศึกษาในระยะหลังว่านำมาใช้พยากรณ์ความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อได้ โดยในปัจจุบันยังมีการศึกษาเรื่องการนำเครื่องมือนี้มาใช้กับโรคหลอดเลือดสมองไม่มาก และยังไม่มีข้อมูลที่ศึกษาในประเทศไทย ข้อมูลทางพันธุกรรมนี้จึงอาจเป็นเครื่องมือที่จะนำไปสู่การพัฒนาประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและความพิการหลังเกิดโรคในอนาคต

 

โดย นายนนทพัทธ์ สุคนธ์พานิช มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี 2563   อุปนายกฝ่ายวิชาการ สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช ซึ่งมีพันธกิจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาวิชาการและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพรวมไปถึงการวิจัยในนักศึกษาแพทย์,  ผู้ร่วมวิจัยในโครงการ “สัดส่วน ประสบการณ์ และปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำวิจัยทางการแพทย์ในนิสิตนักศึกษาแพทย์ประเทศไทย: การศึกษาทั่วประเทศแบบพหุสถาบัน”

ปี 2562   ดำรงตำแหน่งในฝ่ายส่งเสริมและพัฒนา soft skill ในสังกัดอุปนายกฝ่ายนโยบายและแผน สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช,  ผู้บรรยายและดำเนินกิจกรรม Design Thinking workshop ในค่ายสะพายศักย์  และรองประธานฝ่ายกิจกรรม โครงการค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราช ครั้งที่ 21

ปี 2561   ได้รับรางวัล “สุขุม ภัทราคม” คะแนนยอดเยี่ยมในรายวิชาจุลชีววิทยาทางการแพทย์, ดำรงตำแหน่งประธานวิชาการคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์ศิริราช ชั้นปีที่ 3,  วิทยากรรับเชิญในงาน Siriraj Road Show ณ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา  และหัวหน้าฝ่ายสันทนาการ โครงการค่ายเส้นทางสู่หมอศิริราช ครั้งที่ 20

ปี 2560   ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย Creative activity การแข่งขันตอบปัญหาทางจุลชีววิทยา ปรสิตวิทยา และวิทยาภูมิคุ้มกันทางการแพทย์นานาชาติ

ปี 2559   ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการนักศึกษาแพทย์ศิริราช ชั้นปีที่ 1,  เข้าร่วมโครงการประชุมนิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งเอเชีย ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

 

นายภรัณยู โอสถธนากร

นายภรัณยู โอสถธนากร เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่อง การพัฒนาการจ่ายเพื่อการดูแลสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า เพื่อพัฒนาการดูแลโรคเบาหวานในบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทย  เนื่องด้วยโรคเบาหวานเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโรคหนึ่งที่มีอุบัติการณ์สูงก่อให้เกิดความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก เป็นภาระโรคที่สำคัญในระบบสาธารณสุข ทั้งด้านกำลังคนและค่าใช้จ่าย แต่แนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยังไม่ตอบโจทย์คุณภาพและผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี คือ ผู้ป่วยส่วนมากยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดตามเป้าหมายได้ โรคนี้มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในอนาคตที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมทั้งวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป นายภรัณยู โอสถธนากร มีความสนใจในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบและต้องการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานผ่านหลักการการดูแลสุขภาพแบบมุ่งเน้นคุณค่า (Value-based Healthcare) คือการเน้นที่การวัดผล และการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ให้บริการในระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของประเทศไทย โดยคาดหวังว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมการบริการให้ตอบโจทย์ผลลัพธ์ทางการรักษาที่ดี นำไปสู่ความเจ็บป่วยที่ลดน้อยลงและพัฒนาสุขภาพของคนไทยให้ดียิ่งขึ้นไป

 

โดย นายภรัณยู โอสถธนากร มีเกียรติประวัติต่าง ๆ อาทิ

ปี 2563  นายกสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.)  และรองประธานฝ่ายกิจกรรมนอกคณะฯ สภานักศึกษาแพทย์รามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ปี 2562  ประธานค่ายวิจัยครั้งที่ 8 โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ฯ (สพท.) และรองประธานชมรมวิจัย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปี 2561  ผู้ร่วมทํางานนําเสนอ E-poster หัวข้อ The effectiveness of a self-selected “SSMILeS” intervention to reduce depression and maintain the general well-being of the preclinical medical student  และนักแสดงสมทบ ในการแสดงละครเวทีการกุศล Rama Drama ครั้งที่ 11 เรื่อง Home

ปี 2560  ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2  และประธานงานพระราชทานเพลิงศพ ผู้บริจาคร่างกายเพื่อการศึกษากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ปี 2557  นําเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ Increasing the stability of particle containing phase change material through the polymeric crosslinking in the particle shell and application in natural rubber โดยโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงาน INESPO 2015 ณ ประเทศเนเธอร์แลนด์  และกรรมการหอพัก โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

นายภูรินท์ อารีย์สว่างกิจ

นายภูรินท์ อารีย์สว่างกิจ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความสนใจในเรื่อง การพัฒนาเทคโนโลยีการรักษามะเร็งท่อน้ำดีโดยใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดชนิด คาร์ ที เซลล์ ที่มีต้นกำเนิดมาจากสเตมเซลล์ (iPSC-derived CAR T cells) ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมให้ตัวรับบนผิวเซลล์มีความจำเพาะกับโปรตีนบนผิวเซลล์มะเร็งและสามารถทนสภาพแวดล้อมภายในก้อนเนื้องอกได้ดีขึ้น  ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว จะเข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งส่วนมากไม่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดและมีการดำเนินโรคที่ไม่ดี นอกจากนี้จะยังเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยี iPSC-derived CAR T cells มาประยุกต์ใช้กับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆต่อไปในอนาคต เพื่อให้ผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยและผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกสามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาที่ถูกลงและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

 

โดย นายภูรินท์ อารีย์สว่างกิจ มีเกียรติประวัติต่าง ๆ อาทิ

ปี 2563   ประธานโครงการออกรับบริจาคธงเนื่องในวันมหิดล เพื่อหารายได้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของโรงพยาบาลศิริราช,  ประธานฝ่ายวิชาการและกรรมการรุ่นชั้นปีที่ 5  และวิทยากรรับเชิญในกิจกรรมสัมนา Research Made Easy ผ่านทางระบบ Zoom จัดโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช

ปี 2562   ประธานโครงการอบรมให้ความรู้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี ณ โรงพยาบาลหนองม่วง จังหวัดลพบุรี,  วิทยากรงาน “InSipired แรงบันดาลใจสร้างได้” จัดโดยสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช  และวิทยากรรับเชิญ งาน Siriraj Road Show 2019 ณ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

ปี 2561  ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเข้าร่วมการแข่งขันตอบปัญหาสรีรวิทยา Inter-medical school physiology quiz ครั้งที่ 16 ณ University of Malaya ประเทศมาเลเซีย

ปี 2560  บรรณาธิการหนังสือ WALKTHROUGH ข้อสอบจำลอง 9 วิชาสามัญ  และอาสาสมัครช่วยงานการแข่งขันเคมีโอลิมปิกระดับนานาชาติ ประจำปี 2017 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

ปี 2559  ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในการคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วม Asian Science Camp 2017 ณ ประเทศสิงคโปร์

ปี 2556 – 2558  ผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับนานาชาติประจำปี 2559 ได้รับรางวัลเหรียญเงิน  และได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ประจำปี 2558 และ 2559

นอกจากนี้ นายภูรินท์ ยังทำวิจัยในหัวข้อ “Improvement of effector T-cell function activated by self-differentiated dendritic cells presenting NY-ESO-1 Antigen against multiple myeloma cells from naïve T lymphocyte donor” ตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 จนถึงปัจจุบัน

 

 

นายยสวัต สุวรรณลิขิต

นายยสวัต สุวรรณลิขิต เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่อง การศึกษาการประยุกต์ใช้โปรแกรมเซลล์ย้อนกลับเพื่อฟื้นฟูการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ประสาทที่ชราของมนุษย์  กลุ่มโรคที่เกิดจากการเสื่อมของเซลล์ประสาทในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคพบมากในผู้สูงอายุ เนื่องจากในปัจจุบันวิธีการรักษาโรคในกลุ่มนี้ยังมีประสิทธิภาพไม่ดีเท่าที่ควร ร่วมกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นตามการขยายตัวของสังคมผู้สูงอายุทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก ทำให้การพัฒนาวิธีการรักษาใหม่มีความสำคัญและเร่งด่วน หนึ่งในแนวทางใหม่คือการใช้โปรแกรมเซลล์ย้อนกลับ (cellular reprogramming) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถฟื้นฟูการทำงานไมโทรคอนเดรียที่ผิดปกติในเซลล์ที่ชราของสิ่งมีชีวิตได้ นายยสวัตจึงสนใจศึกษาผลของการกระตุ้นโปรแกรมเซลล์ย้อนกลับต่อการทำงานของไมโทคอนเดรียในเซลล์ประสาทที่ชราของมนุษย์ เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่สำคัญในการพัฒนาแนวทางการรักษาใหม่สำหรับโรคในกลุ่มการเสื่อมของเซลล์ประสาทในผู้สูงอายุในประเทศไทย

 

โดย นายนายยสวัต สุวรรณลิขิต มีเกียรติประวัติต่าง ๆ อาทิ

ปี 2564    อาสาสมัครและวิทยากรบรรยายในโครงการ “Home isolation Telemedicine” โดยนักศึกษาแพทย์รามาธิบดี

ปี 2563    ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5,  ผู้จัดกิจกรรม “นักศึกษารามาธิบดีอาสา” เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับ COVID-19,  ตัวแทนคณะในการจัดโครงการ “มหิดลร่วมใจ สานสายใย นำน้ำใจสู่ชุมชน ครั้งที่ 7”  และสมาชิกในทีมผู้จัดงานสัมมนานักศึกษาแพทย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปี 2562    ประธานโครงการรายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน ณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น,  รองประธานโครงการค่ายวิจัย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย (สพท.) ครั้งที่ 8,  รองประธานโครงการ “ปันน้ำใจสู่เด็กด่านซ้าย” เพื่อพัฒนาเด็กในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย, ได้รับรางวัล Dean’s Research Awards จากการนำเสนอผลงานวิจัย Electronic Poster ที่งาน European Human Genetics Conference 2019 ณ เมือง โกเธนเบิร์ก ประเทศสวีเดน  และเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนทางทางคลินิก โดยสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

ปี 2561    ประธานโครงการเวชศาสตร์ชุมชน ณ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์,  มีผลการสอบเพื่อประเมินและรับรองความรู้ความสามารถในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ขั้นตอนที่ 1 ได้คะแนนสอบเทียบเป็นเปอร์เซ็นไทล์ที่ 98.01,  ตัวแทนนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาบาสเกตบอล กิจกรรม “กีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ 30”  และอาสาสมัครกิจกรรมค่ายอาสาออกตรวจ โครงการ “ค่ายสร้างเสริมประสบการณ์ครั้งที่ 81” ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองกะทิง อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

ปี 2560    ตัวแทนนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาฟุตบอล ในกิจกรรม “กีฬาเข็มสัมพันธ์ ครั้งที่ 29”

ปี 2559    ได้คะแนนสูงสุดอันดับที่ 1 ในการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  และตัวแทนนักกีฬาในการแข่งขันกีฬาฟุตซอลได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ในกิจกรรมมหาวิทยาลัย MU Freshy Game 2016