ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ กระทรวงการต่างประเทศ

แถลงข่าว

ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

 

วันนี้ (๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒)  เวลา ๑๓.๓๐ น. ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นางสาวบุษฎี  สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สมภพ ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ  อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒ ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น ๔ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพ

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี  ๒๕๖๒ ได้แก่

๑. นางสาวกัลยกร  ริ้วรุจา             คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒. นายทศวิทย์  ติยะรัตนาชัย          คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๓. นางสาวพัทธ์ธีรา  วงศ์ตั้งตน       คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

๔. นางสาวพรลดา  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

๕. นางสาวศศิธร  เย็นยุวดี             คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒ ทั้งสิ้น ๑๓ ราย จาก ๗ สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ ๕ ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒

 

     โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๐  มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินการ และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ หรือการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา ๑ ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

—————————————————————–

 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

นางสาวกัลยกร  ริ้วรุจา

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นางสาวกัลยกร  ริ้วรุจา  เป็นนิสิตชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจศึกษากลไกการทำงานของ exosome จากผลิตภัณฑ์เลือดและเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ต่อการเจริญพัฒนาและสร้างใหม่ของเซลล์กระดูกอ่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวิธีการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม (osteoarthritis) ให้ดียิ่งขึ้น ปัจจุบันทั่วโลกมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดข้อ ข้อฝืดติดขัด ข้อผิดรูป ข้อพิการและใช้งานไม่ได้ในที่สุด ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และต้องพึ่งพาสังคมในการดูแล ปัญหาสำคัญของโรคข้อเสื่อม คือ ไม่มีวิธีการป้องกันและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาบรรเทาอาการ ส่วนยาที่พัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งหวังชะลอการดำเนินของโรคยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไป โรคยังคงดำเนินต่อ  นำไปสู่ข้อพิการผิดรูปและจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียม  แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมมีค่าใช้จ่ายสูง และข้อเทียมมีอายุการใช้งานจำกัด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวิธีการรักษาในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อป้องกันและชะลอการดำเนินของโรคได้จริง และเป็นองค์ความรู้สำหรับการพัฒนายารักษาโรคข้อเสื่อมในอนาคตต่อไป

 

โดย นางสาวกัลยกร  ริ้วรุจา มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี ๒๕๖๒    ร่วมศึกษาวิจัยการแยกเซลล์จากกระดูกอ่อน และผลของเกล็ดเลือดเข้มข้นต่อการเจริญพัฒนาเซลล์กระดูกอ่อน

ปี ๒๕๖๑    ผู้แทนนิสิตในตำแหน่งทูตน้ำใจประจำโครงการ “วันอานันทมหิดลประจำปี ๒๕๖๑”,  ประธานฝ่ายให้ความรู้และจัดทำใบความรู้โครงการ “อบรมเชิงปฏิบัติการฝึกการกู้ชีพเบื้องต้น (CPR) แก่ประชาชน”,  ผู้แทนสถาบันรับผิดชอบโครงการ “งานประชุมวิชาการ ๓ สถาบัน (จุฬา-ศิริราช-รามาธิบดี): Practical points for EXTERN & INTERN”, กรรมการดำเนินโครงการและร่วมบรรยายในกิจกรรม “ต้นกล้าแพทย์จุฬาฯ ๒๕๖๑”,  ร่วมบรรยาย “การพัฒนา early clinical experience ในชั้นปีที่ 1-3” ในโครงการการสัมมนาหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. ๒๕๖๑ และร่วมนำเสนองาน Short communication เรื่อง “Evaluation of the Student-Engaged Study Skills Course for Facilitating Year 2 Medical Students Through their Transitional Period: A Questionnaire-Based Study” ในการประชุม “Asia Pacific Medical Education Conference: APMEC 2019”

ปี ๒๕๖๐    วิทยากรบรรยายโครงการ “ทบทวนความรู้เพื่อเตรียมสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม”

ปี ๒๕๕๙    ประธานฝ่ายวิชาการ กิจกรรม “BOOTCAMP 2016” สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand),  ร่วมปฏิบัติงานกิจกรรมฐานโครงการออร์โธปิดิกส์ ในกิจกรรม Med Chula Expo

ปี ๒๕๕๘    ผู้แทนนิสิตอัญเชิญเครื่องทองน้อย เดินนำขบวนรอบพระเมรุ ใน “งานพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา” ณ วัดธาตุทอง,  ร่วมบรรยายในฐาน gross anatomy กิจกรรม “MDCU open house 2015”

ปี ๒๕๕๗    อาสาสมัครโครงการ “อาสาข้างเตียง” เพื่อให้กำลังใจผู้ป่วยในระยะสุดท้าย,  รับผิดชอบ “ค่ายอยากเป็นหมอ 2014”

ปี ๒๕๕๖    รางวัลเหรียญเงิน สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ นำเสนองานวิจัยเรื่อง “การเปรียบเทียบสารแอนตี้ออกซิแดนท์ในแป้ง
จากข้าวเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์” ในงาน Asian Pacific Conference of Young Scientists ครั้งที่ 2 ประเทศอินโดนีเซีย และ “นักเรียนดีเด่นด้านบำเพ็ญประโยชน์” คณะกรรมการนักเรียน รร.มหิดลวิทยานุสรณ์ ปีการศึกษา ๒๕๕๖

ปี ๒๕๕๕    นักเรียนโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ ณ Shanghai High school สาธารณรัฐประชาชนจีนปี ๒๕๕๕

****************************************

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

นายทศวิทย์  ติยะรัตนาชัย

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายทศวิทย์  ติยะรัตนาชัย  เป็นนิสิตชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence, AI) ที่สามารถวิเคราะห์ภาพอัลตราซาวน์ เพื่อใช้ช่วยคัดกรองมะเร็งตับ  มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ ๒ ในประเทศไทย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะผู้ป่วยมักไม่มีอาการในระยะแรกจึงตรวจพบได้ยาก เมื่อตรวจพบจะมีผู้ป่วยถึงร้อยละ ๕๐ ที่เป็นมะเร็งในระยะลุกลามไปแล้ว การตรวจคัดกรองด้วยอัลตราซาวด์ช่องท้องสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับได้ นายทศวิทย์จึงคิดสร้างระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจหา และแยกชนิดของก้อนในตับจากการทำอัลตราซาวด์ งานวิจัยนี้จะทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความแม่นยำในการตรวจพบก้อนจากการทำอัลตราซาวด์ ช่วยแบ่งเบางานของแพทย์ และช่วยลดค่าใช้จ่ายของประเทศ

 

โดย นายทศวิทย์  ติยะรัตนาชัย มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี ๒๕๖๒    นำเสนอผลงานในรูปแบบ oral presentation เรื่อง “Computer-assisted ultrasonographic image analysis for differentiation between hepatocellular carcinoma (HCC) and benign focal liver lesions”
ในงานประชุมวิชาการ Digestive Disease Week ณ เมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
และได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ จากการประกวดนำเสนอผลงานในรูปแบบ oral presentation เรื่อง “Artificial intelligence system for localization and diagnosis of focal liver lesions in abdominal ultrasonography images” ในงานประชุมวิชาการ Korea University International Medical Student Research Conference ณ Korea University College of Medicine กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

ปี ๒๕๖๑    ได้รับรางวัลนิสิตแพทย์ผู้มีผลการเรียนดีเยี่ยมของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
และเป็นกรรมการจัดค่ายต้นกล้าแพทย์จุฬาฯ (ค่ายปฐมนิเทศนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ ๒)

ปี ๒๕๖๐    ได้รับรางวัลนิสิตแพทย์ผู้สอบได้คะแนนสูงสุดในรายวิชาอายุรศาสตร์, วิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา และวิชาทฤษฎีศัลยศาสตร์  และเป็นอาสาสมัครเพื่อทบทวนความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐานให้แก่เพื่อนนิสิตแพทย์

ปี ๒๕๕๙    ได้รับรางวัลนิสิตผู้สอบได้คะแนนสูงสุดในการสอบเพื่อปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตขั้นตอนที่ ๑,
ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ Chiang Mai University International Medical Challenge: Basic to Clinical Anatomy,  ได้รับคัดเลือกเป็นนิสิตแพทย์ใน “โครงการเพชรชมพู”
และเป็นกรรมการจัดการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการเนื่องในวันอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ

ปี ๒๕๕๘    ได้รับรางวัลนิสิตแพทย์ผู้สอบได้คะแนนสูงสุดในวิชาสรีรวิทยาและวิชากายวิภาคศาสตร์
และได้รับรางวัลเหรียญทองประเภทบุคคล จากการแข่งขันตอบปัญหาวิชาการ Chiang Mai University International Medical Challenge: Basic to Clinical Biochemistry

ปี ๒๕๕๗    ได้รับรางวัลนิสิตแพทย์ผู้สอบได้คะแนนรวมสูงสุดในรายวิชาเซลล์และชีววิทยาโมเลกุลพื้นฐาน

ปี ๒๕๕๕    ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงจากการแข่งขันฟิสิกส์โอลิมปิกระดับชาติ (สอวน.) ครั้งที่ ๑๑

ปี ๒๕๕๓    ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ จากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ World Robot Olympiad

****************************************

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

นางสาวพัทธ์ธีรา  วงศ์ตั้งตน

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวพัทธ์ธีรา  วงศ์ตั้งตน  เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่องการวิเคราะห์ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายของแต่ละบุคคลจากข้อมูลบนเฟซบุ๊ก (Facebook) โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ ปัญหาการฆ่าตัวตายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการตายทั่วโลก แต่จากการศึกษากลับพบว่า บุคคลที่ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ไม่เคยได้พบบุคลากรทางการแพทย์มาก่อน และแม้บางส่วนจะเคยได้พบแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจพบความเสี่ยงได้ทันท่วงที โดยหลายการศึกษาพบว่าปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ รวมถึงการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพฤติกรรมและข้อมูลต่างๆ บน Facebook ดังนั้นการสร้างเครื่องมือโดยอาศัยระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายผ่านข้อมูลบน Facebook ซึ่งในปัจจุบันถูกใช้อย่างแพร่หลายและใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงน่าจะช่วยให้สามารถเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายได้จำนวนมากขึ้น และตรวจพบความเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือได้ทันเวลา และช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายในประเทศไทยได้ในที่สุด

 

โดย นางสาวพัทธ์ธีรา  วงศ์ตั้งตน มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี ๒๕๖๒    เป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์กล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “นักศึกษาแพทย์กับความสุข” ในช่วง MedTalk
ของงาน “RAMA INSIGHTS” งานเปิดบ้านครั้งแรกของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ปี ๒๕๖๑    เป็นประธานชมรมนักศึกษาแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,  เป็นตัวแทนถือพวงมาลาของคณะฯ
ในพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันมหิดล ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
และได้รับรางวัล “นักศึกษาแพทย์ผู้มีความประพฤติดีเยี่ยม” ในหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิตติดต่อกัน ๒ ปี

ปี ๒๕๖๐    เป็นประธานโครงการเวชศาสตร์ชุมชน “ร่วมใจเปลี่ยนพฤติกรรมกันซะที” ณ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี

ปี ๒๕๕๙    ได้รับโล่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ การนำเสนอผลงานเชื่อมโยงเรื่องเด่นจากการเรียนรู้ภาคสนามรายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน,  เป็นประธานโครงการรายวิชาเวชศาสตร์ชุมชน ณ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
และเป็นรองประธานฝ่าย Backstage ในละครเวทีการกุศลรามาดราม่า ครั้งที่ ๙ เรื่อง “สองพบ”

ปี ๒๕๕๘    เป็นประธานชั้นปีนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีชั้นปีที่ ๒

ปี ๒๕๕๗    ได้คะแนนสูงสุดอันดับที่ 1 ในการสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี,  เป็นประธานฝ่ายวิชาการนักศึกษาแพทย์รามาธิบดีชั้นปีที่ 1,  เป็นประธานผู้นำเชียร์ในงานกีฬาเฟรชชี่ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

****************************************

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

นางสาวพรลดา  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวพรลดา  ลิขสิทธิ์วัฒนกุล  เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจเรื่องการศึกษาความหลากหลายและวิวัฒนาการของมะเร็งสมอง กลไกการดื้อยาของมะเร็งในเชิงลึก โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ในปัจจุบัน โรคมะเร็งหลายชนิดยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผลดี โดยเฉพาะกลุ่มมะเร็งสมอง Glioblastoma เพราะมะเร็งมีความสามารถในการปรับตัวและดื้อต่อการรักษา ความสามารถในการปรับตัวนี้ เกิดจากพื้นฐานที่ว่า มะเร็งเป็นโรคที่มีความหลากหลาย เมื่อเรามองลึกลงไปแล้วจะพบว่า มะเร็งในตำแหน่งหนึ่ง เกิดจากเซลล์มะเร็งหลากหลายชนิดมารวมตัวกัน การรักษาด้วยยาชนิดใดชนิดหนึ่งอาจรักษาได้เพียงบางส่วนของเนื้อมะเร็ง การใช้เทคนิคการถอดรหัสด้วยอาร์เอ็นเอแบบเซลล์เดี่ยว จะช่วยตอบปัญหาความหลากหลายนี้ และช่วยวางแผนการเลือกยาที่เหมาะสมในผู้ป่วยมะเร็งแต่ละราย ประเด็นที่นางสาวพรลดา สนใจศึกษาประกอบด้วย การศึกษาความหลากหลายระดับเซลล์ในมะเร็งสมอง และ การศึกษาวิวัฒนาการของมะเร็งที่เกิดขึ้นภายหลังการได้รับการรักษา

 

โดย นางสาวพรลดา ลิขสิทธิ์วัฒนกุล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี ๒๕๖๒    หัวหน้าฝ่ายวัดผลประเมินผล งานอบรมรับน้องข้ามฟาก  และหัวหน้าฝ่ายเนื้อหาวิชาการ ชมรม SISO magazine

ปี ๒๕๖๑    อุปนายกฝ่ายบริหาร สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช,  หัวหน้าสายการออกรับบริจาคธงเนื่องในวันมหิดล,
วิทยากรค่ายวิจัยครั้งที่ ๗ โดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย  และได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัย “Cyclin D1 depletion interferes with cancer oxidative balance and sensitizes cancer cells to senescence”
ในวารสาร Journal of Cell Science

ปี ๒๕๖๐    ได้รับรางวัลเรียนดีคะแนนเฉลี่ยรวมสูงสุดทุกรายวิชาชั้นปีที่ ๔,  ฝ่ายหน่วยตรวจและเยี่ยมบ้าน “ค่ายอาสามหิดล
ร่วมใจ” และ “ค่ายหมออาสาพัฒนาชุมชน”  และเป็นตัวแทนของคณะฯ ไปศึกษาดูงานสาขา Oncology and Hematology ณ National University Hospital ประเทศสิงคโปร์

ปี ๒๕๕๙    ประธานชั้นปี ๓, ประธานงานขอบคุณอาจารย์ที่สอนในระดับชั้นปรีคลินิก,  หัวหน้าฝ่ายสถานที่ในงานพระราชทานเพลิงอาจารย์ใหญ่  และได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในรายวิชาระบบเลือดและลิมฟอยด์, วิชาระบบสืบพันธุ์
และวิชาระบบไหลเวียน

ปี ๒๕๕๘    ได้รับรางวัลทีมรองชนะเลิศอันดับ ๑ การแข่งขันตอบปัญหาทางสรีรวิทยา “Inter-medical School Physiology Quiz 2016” ณ ประเทศอินโดนีเซีย  และได้รับคะแนนสูงสุดรายวิชาสรีรวิทยา

ปี ๒๕๕๗    รองประธานชั้นปีฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการชั้นปีที่ ๑

ปี ๒๕๕๖    ได้รับรางวัลเหรียญทอง การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ ๒๔

****************************************

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี ๒๕๖๒

นางสาวศศิธร  เย็นยุวดี

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นางสาวศศิธร  เย็นยุวดี  เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ ๖ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจในเรื่องการตรวจคัดกรองและการตรวจติดตามโรคมะเร็งจากการตรวจเลือด โดยมีความตั้งใจจะศึกษาในโรคมะเร็งท่อน้ำดี เนื่องจากโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคมะเร็งที่สำคัญและเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประชากรในประเทศไทย ทั้งนี้การตรวจคัดกรองและการตรวจติดตามโรคมะเร็งจากตัวอย่างเลือดจะเป็นการตรวจที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็วรวมทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบุคคลที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและการติดตามการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้เร็วยิ่งขึ้น โดยโครงการนี้จะมุ่งเน้นการตรวจหา เซลล์ลูกผสมระหว่างเซลล์มะเร็งและเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน (hybrid cells) รวมไปถึง เซลล์มะเร็งในกระแสเลือด (circulating tumor cell) และสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งในกระแสเลือด (circulating tumor DNA)

 

โดย นางสาวศศิธร  เย็นยุวดี มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปี ๒๕๖๒    ได้รับโล่เกียรติคุณรางวัลนักศึกษาแพทย์ผู้ทำคุณประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยนเชิงคลินิก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปี ๒๕๖๑    ประธานโครงการออกรับบริจาคธงมหิดล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ด้อยโอกาสและจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์
ประจำปี ๒๕๖๑  และประธานกิจกรรมอาสาทำธงมหิดลร่วมใจครอบครัวศิริราช ร่วมกับกลุ่มอาสามหาวิทยาลัยมหิดล

ปี ๒๕๖๐    คณะกรรมการจัดค่ายอาสาโครงการมหิดลร่วมใจ สานสายใย น้ำใจสู่ชุมชน ณ จังหวัดอ่างทอง,
ร่วมงานวิจัย Identification of Potential Acquired Drug Resistance Mechanisms to CDK4/6 Inhibition
in Cholangiocarcinoma และกรรมการนักศึกษาประจำชั้นปี

ปี ๒๕๕๙    หัวหน้าฝ่ายวิชาการ (ข้อสอบปฎิบัติการ),  คณะกรรมการจัดการแข่งขัน Siriraj International Medical Microbiology, Parasitology and Immunology Competition (SIMPIC 2016)  และกรรมการกิจกรรม
งานพระราชทานเพลิงศพอาจารย์ใหญ่ผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ปี ๒๕๕๖    ได้รับการคัดเลือกเข้าอบรมชีววิทยาโอลิมปิก สสวท. (IMSO) และได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “Amino Acid Substitutions at Positions Arg-97, Glu-114 and Arg-301 in Bacillus sphaericus BinA Toxin”
ในงาน 10th Japan Super Science Fair 2012 (JSSF 2012) ณ ประเทศญี่ปุ่น

ปี ๒๕๕๕    ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ ๙ (TBO) ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี