ประกาศผลตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550

วันนี้ ( 27 พ.ย.2550)  เวลา 10.30 น.   ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ปิยะสกล  สกลสัตยาทร   คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์       นายธฤต   จรุงวัฒน์  อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติและประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2550  ครั้งที่ 16    ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก  ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 รพ.ศิริราช  สาขาการแพทย์  ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. อักเซล อูลล์ริช (Professor Dr. Axel Ullrich)    สาขาการสาธารณสุข  ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล สจ๊วต เฮทเซล (Professor Basil Stuart Hetzel)  และนายแพทย์ ซานดุ๊ก  รูอิท  (Dr. Sanduk  Ruit) 
     
              
     ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลทั้งสิ้น    จำนวน   69 ราย  จาก  35   ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2550, 2549, 2548 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา  มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น  48 ราย    
             
     รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  โดยการดำเนินงานของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา โดยผู้รับรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล  ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ
             
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลประจำปี 2550  ในวันที่ 30 มกราคม 2551 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท  โดยในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2551  ณ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศในผลงานที่ได้รับด้วย

         
สาขาการแพทย์

      ศาสตราจารย์ ดร.อักเซล อูลล์ริช   (Professor Dr. Axel Ullrich)   ผู้อำนวยการสถาบันชีวเคมีมักซ์พลั้งค์   (Max Planck Institute of Biochemistry)  สหพันธสาธารณรัฐเยอรมนี
     ศาสตราจารย์ ดร.อักเซล อูลล์ ริช  เป็นผู้นำด้านการศึกษากลไกหลักของการเกิดเซลล์มะเร็ง  และที่สำคัญเป็นผู้บุกเบิกการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า  (Targeted cancer therapy)  เป็นการเปิดศักราชใหม่ของการรักษาโรคมะเร็ง   ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความปลอดภัยมากขึ้น  เนื่องจากยารักษานี้
     ไม่ส่งผลร้ายต่อเซลล์ปกติ  ทำให้ผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งลดลง

 ศาสตราจารย์ ดร. อักเซล อูลล์ ริช  ได้ค้นพบและศึกษาลักษณะทางอณูชีววิทยาของยีนมะเร็งในโรคมะเร็งเต้านม ที่เรียกว่า เฮอร์ 2  (HER2/c-erbB2)  พบว่าผู้ป่วยที่มียีนนี้จะมีความรุนแรงของโรคสูงและ แพร่กระจายได้ง่าย  ศาสตราจารย์ ดร. อักเซล อูลล์ ริช  ได้สังเคราะห์แอนติบอดี้หรือโปรตีนต่อต้านเฮอร์ 2 ได้   ซึ่งได้ถูกนำไปพัฒนาเป็นยาใหม่  ที่เรียกว่า เฮอร์เซพติน  หรือทราสตูซูแม็บ  (Herceptin or Trastuzumab)  และพบว่ายานี้สามารถใช้ได้ผลดีมากในผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่มียีนดังกล่าว  ต่อมาผู้วิจัยกลุ่มอื่น ๆ ได้ใช้แนวทางที่คล้ายคลึงกันนี้ของ ศาสตราจารย์ ดร. อักเซล อูลล์ ริช  ทำการศึกษาเป้าหมายจำเพาะของโรคมะเร็งอื่น ๆ และพยายามพัฒนาวิธีการรักษาแบบมุ่งเป้านี้ด้วย 

 มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในสตรี  มีผู้ป่วยใหม่ประมาณปีละ 1.2 ล้านคน  และมีผู้เสียชีวิตปีละมากกว่า 500,000 คน 

 ผลงานของ ศาสตราจารย์ ดร.อักเซล อูลล์ ริช  ในการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งแบบมุ่งเป้า  และยาต้านยีนมะเร็งเต้านม  นับเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการรักษาโรคมะเร็งทั้งปวง  และเป็นต้นแบบของการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ   ก่อประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
             

สาขาการสาธารณสุข

    ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล สจ๊วต เฮทเซล  (Professor Basil Stuart Hetzel) ประธานเกียรติคุณ สภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนานาชาติ  ประเทศออสเตรเลีย
             
     ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล เฮทเซล  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจถึงผลของการขาดสารไอโอดีนที่มีต่อสุขภาพของมนุษย์  โดยเฉพาะต่อการพัฒนาของสมอง  รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการรณรงค์แก้ไขปัญหาโรคขาดสารไอโอดีนระดับโลก
             
 ระหว่างปี พ.ศ.2519-2528  ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล เฮทเซล และคณะได้พิสูจน์ว่าการขาดสารไอโอดีนมีผลกระทบต่อการพัฒนาการของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง  พบว่าการขาดสารไอโอดีนอย่างรุนแรงในมารดาและทารกในครรภ์ทำให้เกิดโรคเอ๋อ  คือมีสติปัญญาต่ำ, หูหนวก, เป็นใบ้, การทำงานของกล้ามเนื้อผิดปกติ  เป็นความพิการอย่างถาวร  โดยเด็กที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการขาดสารไอโอดีนจะมีระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวต่ำกว่าเด็กวัยเดียวกันที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีสารไอโอดีนพอเพียงถึง 13.5 จุด  ความพิการเหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยการให้สารไอโอดีนให้พอเพียงแก่สตรีวัยเจริญพันธ์ก่อนที่จะตั้งครรภ์

 ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล เฮทเซล  ยังได้เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสภาการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีนนานาชาติ  หรือ ICCIDD  ผลักดันให้มีการใช้เกลือเสริมไอโอดีนอย่างเต็มรูปแบบในราว 100 ประเทศทั่วโลก  ทั้งในการบริโภค อุตสาหกรรมอาหาร  และในการปศุสัตว์อย่างเข้มแข็ง  มีผลต่อพัฒนาการของประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคน

 ผลงานของ ศาสตราจารย์นายแพทย์ เบซิล เฮทเซล  ที่ทำให้ความหมายของ “โรคขาดสารไอโอดีน” เป็นที่ยอมรับมากกว่าโรคคอพอก  ตลอดจนการรณรงค์ป้องกันและแก้ไข  โรคขาดสารไอโอดีนก่อให้เกิดคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อเชาว์ปัญญาและสุขภาพอนามัยของประชากรจำนวนนับพันล้านคนทั่วโลก  รวมทั้งประเทศไทยด้วย 
 

      นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท (Dr. Sanduk  Ruit) ผู้อำนวยการศูนย์จักษุทิลกานกา  (Tilganga Eye Centre)  กรุงกาฎมาณฑุ  ประเทศเนปาล
             
     นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท   ได้พัฒนาวิธีการผ่าตัดต้อกระจกแบบที่ไม่ต้องเย็บ  (suture-less operation)  ซึ่งมีประสิทธิภาพสูง  ใช้เวลาการผ่าตัดน้อย    ทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกลได้  จำนวนมาก  นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท    ยังมีบทบาทสำคัญในการ
พัฒนาการผลิตเลนส์ตาเทียม  (intraocular lens)  ซึ่งมีคุณภาพสูงขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนา  โดยเริ่มที่ประเทศเนปาล  เลนส์ที่ผลิตขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าเลนส์ตาเทียมที่นำเข้าถึง 50 เท่า  ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากสามารถเข้าถึงการรักษาโดยวิธีการดังกล่าวได้

     นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท  ยังได้จัดตั้งหน่วยผ่าตัดตาเคลื่อนที่ทำการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยต้อกระจกในพื้นที่ห่างไกลของประเทศเนปาลและแถบเทือกเขาหิลามัย  โดยพัฒนาวิธีการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพแต่สามารถทำได้ในหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่  ต่อมาได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ขยายหน่วยผ่าตัดตาเคลื่อนที่นี้ไปสู่ประเทศอื่น ๆ เช่น  จีน  อินเดีย  บังคลาเทศ  กัมพูชา  เวียดนาม  และเกาหลีเหนือ
             
 นอกจากนี้ นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท และคณะ  ยังได้ฝึกอบรมและถ่ายทอดวิธีการผ่าตัดและวิธีการจัดการนี้ให้แก่จักษุแพทย์  และบุคลากรจากประเทศต่าง ๆ กว่า 500 คน  ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  จากทวีปเอเซีย  อเมริกาเหนือ  ยุโรป  และออสเตรเลีย  ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ได้นำวิธีการนี้ไปรักษาผู้ป่วยโรคต้อกระจกแล้ว  จำนวนมากกว่า 35 ล้านคนทั่วโลก

 ผลงานของ นายแพทย์ ซานดุ๊ก รูอิท  ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ในประเทศกำลังพัฒนา ได้รับการยอมรับในระดับโลก  เป็นผลงานการแก้ไขความผิดปกติทางสายตาให้แก่ผู้ป่วยต้อกระจกในประเทศยากจนจำนวนมากด้วยวิธีที่ปลอดภัย  มีประสิทธิภาพ  ประหยัดค่าใช้จ่าย  และสามารถทำได้แบบครบวงจร  ทั้งในส่วนวิธีการผ่าตัด  วัสดุทางการแพทย์  และระบบบริการทางสาธารณสุข  ก่อประโยชน์ทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและสุขภาพจิตของมวลมนุษย์หลายสิบล้านคนทั่วโลก