ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์
ร่วมกับ 
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ม.มหิดล  และ  กระทรวงการต่างประเทศ
แถลงข่าว
ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552
******************


     เมื่อวันที่ 9  กุมภาพันธ์  2553   เวลา 10.30 น.   ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สุพัฒน์  วาณิชย์การ ในฐานะเลขาธิการ   มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์    นายชัยณรงค์  กีรติยุตวงศ์  ผู้อำนวยการกองการสื่อมวลชน  กรมสารนิเทศ ในฐานะตัวแทนของกระทรวงการต่างประเทศ  ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   รองศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ  อัศวมงคลกุล  ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และศาสตราจารย์นายแพทย์วันชัย  วนะชิวนาวิน  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกผู้รับทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ครั้งที่ 1   ประจำปี   2552  ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก   ตึกสยามินทร์  ชั้น 2   รพ.ศิริราช  มหาวิทยาลัยมหิดล

     ผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ได้แก่
1. นางสาวกนกวรุณ  วัฒนนิรันตร์  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล
2. นางสาวจุฑาภรณ์  อัศวชนานนท์  คณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. นางสาวเพ็ญนภา  กวีวงศ์ประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล

     ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  2552  ทั้งสิ้น  22 ราย  จาก  10  สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 12 ราย  คณะกรรมการคัดเลือกผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนฯได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือก และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  27  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2552    
     โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือกผู้สมัครรับทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน


     ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปศึกษาวิจัย  ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี   โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

นางสาวกนกวรุณ  วัฒนนิรันตร์  
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล

         นางสาวกนกวรุณ  วัฒนนิรันตร์  เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล      มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจในวัยรุ่น (Unplanned teenage pregnancy prevention) ซึ่งมองว่าเป็นปัญหาใหญ่สำหรับประเทศไทย ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะการที่วัยรุ่นคนหนึ่งตั้งครรภ์โดยวุฒิภาวะยังไม่พร้อม จะทำให้มีปัญหาตามมามากมาย ทั้งตัววัยรุ่นเอง ตัวเด็กที่เกิดมา ครอบครัวและสังคม ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาสังคม และปัญหาเศรษฐกิจตามมาเป็นลูกโซ่       แต่เนื่องจากปัญหานี้มีปัจจัยหลายด้าน และเป็นปัญหาที่ซับซ้อน หลายฝ่ายได้พยายามแก้ไขแล้ว แต่ยังไม่เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรม ซึ่งคิดว่าน่าจะถึงเวลาแล้ว ที่จะช่วยกันแก้ปัญหานี้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
     โดยนางสาวกนกวรุณ  วัฒนนิรันตร์  มีเกียรติประวัติต่างๆ  อาทิ
     ปีการศึกษา 2551 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
     ปีการศึกษา 2550  เป็นฝ่ายปฏิคม สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
     ปีการศึกษา 2550 ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนนักศึกษาแพทย์ไทย เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ หรือ IFMSA (International Federation of Medical Students’ Association) ไปศึกษา ณ โรงพยาบาล AKH เมืองเวียนนา ประเทศออสเตรียเป็นเวลาประมาณ 1 เดือน
     ปีการศึกษา 2550  เป็นผู้แทนนักศึกษาแพทย์ไทยเข้าร่วมประชุมประจำปี General Assembly (August Meeting) ของ IFMSA ณ ประเทศสหราชอาณาจักร
     ปีการศึกษา 2549  เป็นผู้ช่วยฝ่ายปฏิคม สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
     ปีการศึกษา 2548  ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2
       

 

นางสาวจุฑาภรณ์  อัศวชนานนท์    
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

               นางสาวจุฑาภรณ์  อัศวชนานนท์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัย กณฑ์ักราชวิทยาลัยมหิดล   การนำเอาเซลล์ต้นกำเนิดมาศึกษาโรคทางระบบประสาท (Induced pluripotent stem cell (iPS cell) in neurological disease)  เนื่องจากพยายามศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ทางการแพทย์อยู่เสมอจนได้ค้นพบและตื่นตาตื่นใจในความก้าวหน้าทางการแพทย์โดยเฉพาะในเรื่อง stem cell ซึ่งเป็นการรักษาที่เป็นความหวังสำหรับโรคที่ยังไม่สามารถรักษาได้ด้วยยา การผ่าตัด หรือวิธีการอื่นๆในปัจจุบัน
                              โดยนางสาวจุฑาภรณ์    อัศวชนานนท์  มีเกียรติประวัติต่างๆ  อาทิ
     ปีการศึกษา 2551 ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะกรรมการจัดงานคืนสู่เหย้าแพทย์จุฬา
     ปีการศึกษา 2550  เป็นที่ปรึกษาบรรณาธิการ และผู้ประสานงานจัดทำหนังสือรุ่นแพทย์จุฬา 60 ปี
     ปีการศึกษา 2548  ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้แทนนักศึกษาแพทย์ไทย เข้าค่ายโครงการแลกเปลี่ยนของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ หรือ IFMSA (International Federation of Medical Students’ Association)
     ปีการศึกษา 2548   เป็นสมาชิกสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์), เป็นผู้ดูแลนักเรียนแลกเปลี่ยนโครงการ Asian Medical Student Association (AMSA)
     ปีการศึกษา 2547  เป็นสมาชิกสภานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ตัวแทนคณะแพทยศาสตร์), เข้าร่วมประชุม Asian Medical Student Association of Thailand  ครั้งที่ 1
     ปีการศึกษา 2547 ได้รับเกียรติบัตรการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นที่ 1 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้คะแนนสูงสุดในสาขาแพทย์  และได้คะแนนรวมคิดเป็นเปอร์เซ็นต์สูงสุดของประเทศในทุกสาขาวิชา
     ปีการศึกษา 2547  สอบแข่งขัน และได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนไทยพัฒน์ (ทุนรัฐบาล) ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี-โท ในสาขาเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา (แต่ได้ตัดสินใจเลือกเรียนแพทย์เนื่องจากรักในวิชาชีพแพทย์)
     

 

นางสาวเพ็ญนภา  กวีวงศ์ประเสริฐ  
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล



          นางสาวเพ็ญนภา  กวีวงศ์ประเสริฐ  เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการให้บริการสุขภาพทางเพศ และการดูแลผู้ป่วยเอดส์สำหรับเยาวชน (Development of sexuality health & HIV / AIDS medical care services for youth and adolescent)   เนื่องจากคิดว่า HIV/AIDS เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่เรื้อรังมานาน และยังต้องการการแก้ไขจากหลากหลายหน่วยงานอีกมาก โดยโครงการมีจุดประสงค์มุ่งเน้นที่จะช่วยเหลือเยาวชน ซึ่งเป็น “ต้นกล้าของชาติ”ให้พ้นจากภัย HIV/AIDS พร้อมทั้งมีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นทัดเทียมนานาประเทศ
     โดยนางสาวเพ็ญนภา  กวีวงศ์ประเสริฐ  มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ
     ปีการศึกษา 2552 ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมประชุม 62th  Session of the Regional Committee for WHO South-East Asia ณ ประเทศเนปาล และ การประชุม International Day for Natural Disaster Reduction and the ASEAN Disaster Management Day ณ องค์การสหประชาชาติ ประเทศไทย
     ปีการศึกษา 2552   ตัวแทนประเทศไทยในการเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปี  ( General Assembly in March 2010) ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ หรือ IFMSA (International Federation of Medical Students’ Association) ที่ประเทศตูนีเซีย   ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้รับการเลือกให้เป็นเจ้าภาพ   ด้วยคะแนน 51 ต่อ 2
     ปีการศึกษา 2551 โครงการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วยกับคำแนะนำของแพทย์  ได้รับคัดเลือกจาก IFMSA ให้เป็น 1 ใน 45 โครงการ จาก 200 โครงการทั่วโลก ให้ร่วมเสนอผลงานใน  IFMSA General Assembly ณ ประเทศเม็กซิโก โดยได้รางวัลอันดับ 3 สาขา Best Presentation ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รางวัลนี้
     ปีการศึกษา 2550 ได้ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์ นศพ.นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA), ได้เป็นผู้นำนักศึกษาแพทย์เข้าร่วมการประชุมประจำปี General Assembly ของ IFMSA ณ ประเทศสหราชอาณาจักร,ประเทศเม็กซิโก ซึ่งในการประชุมนี้ได้ทำโครงการวิจัยระบบการศึกษาของนักศึกษาแพทย์ทั่วโลก (Global Medical Curriculum Survey)
     ปีการศึกษา 2549  เป็นผู้ช่วยอุปนายก ฝ่ายกิจกรรม  สโมสรนักศึกษาแพทย์ศิริราช
     ปีการศึกษา 2549  เป็นรองประธานจัดงานอบรมนักศึกษาแพทย์ในเอเชียแปซิฟิก เกี่ยวกับ สึนามิ ณ จังหวัดภูเก็ต
     ปีการศึกษา 2549  เป็นผู้ก่อตั้ง และประธานชมรมคนแรกของชมรมพิพิธภัณฑ์ ศิริราช
     ปีการศึกษา 2548  เริ่มทำงานวิจัยในโครงการแลกเปลี่ยนเรื่อง Protein analysis of Clostridium Difficle by Mass-spectrometry   ที่สถาบันพิษวิทยา  มหาวิทยาลัย ฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมันนี เป็นเวลา 1 เดือน
     ปีการศึกษา 2547  ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้านักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1