แถลงข่าวผลการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554

วันนี้     (14  ธันวาคม 2554)   เวลา 13.30 น.   ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์อุดม   คชินทร  คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์      นายธานี  ทองภักดี  อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์   และศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช   ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์     ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ครั้งที่ 20    ประจำปี  2554   ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก   ตึกสยามินทร์  ชั้น 2  โรงพยาบาลศิริราช

     

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์  ได้แก่  ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค (Professor Aaron T. Beck)   และ  ดร.เดวิด ที. วอง (Dr.David T. Wong)  
สาขาการสาธารณสุข  ได้แก่  ดร.รูธ  เอฟ.  บิชอป (Dr.Ruth F. Bishop)

     ทั้งนี้  มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554  ทั้งสิ้น  76 ราย  จาก  45  ประเทศ  คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือปี 2554, 2553, 2552 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ให้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน  2554  โดยระยะเวลา   19  ปี ที่ผ่านมา    มีบุคคลหรือองค์กรได้รับรางวัลนี้แล้วทั้งสิ้น  59  ราย  ในจำนวนนี้  มี 2 ราย ที่ได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา คือ ศาสตราจารย์นายแพทย์ แบรี่  เจมส์  มาร์แชล  ปี 2548     และศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ ฮารัลด์  ซัวร์  เฮาเซน  ปี 2551   และ 1 ราย  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกในเวลาต่อมาคือ  แพทย์หญิงมากาเร็ต เอฟซี ชาน ปี2549     และมีคนไทยเคยได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  4 ราย  คือ   ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์  ตู้จินดา  และศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา   นิมมานนิตย์  ปี 2539  และนายแพทย์วิวัฒน์  โรจนพิทยากร  และนายมีชัย  วีระไวทยะ  ปี2552
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ   พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น      เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ  1 มกราคม 2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และด้านการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554 จะเป็นปีที่ 20  ของการพระราชทานรางวัล ซึ่งจะมีพิธีพระราชทานรางวัลในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นการครบรอบ 120 ปี แห่งการพระราชสมภพของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก 1 มกราคม พ.ศ. 2555 คณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  จึงมีมติให้เพิ่มเงินรางวัลจากรางวัลละ 50,000 เหรียญสหรัฐ เป็น 100,000 เหรียญสหรัฐ จากปีนี้เป็นต้นไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2554    ในวันที่ 25 มกราคม  พ.ศ. 2555   ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท   โดยในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล      ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ       มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ  ในผลงานที่ได้รับด้วย

 

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554
สาขาการแพทย์
 
 
  ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค  (Professor Aaron T. Beck)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย
และประธานกิตติมศักดิ์  ศูนย์วิจัยจิตพยาธิวิทยาแอรอน ที. เบ็ค
(Aaron T. Beck Psychopathology Research Center)  รัฐเพนซิลเวเนีย  ประเทศสหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค เป็นบุคคลแรกที่นำความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioural Therapy, CBT) มารักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โดยได้พัฒนาวิธีการรักษานี้ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960 ขณะเป็นจิตแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้ทำการวิจัย พัฒนา และทดสอบประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า  โดยใช้กระบวนการและเทคนิคของการเรียนรู้มาใช้บำบัดเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเชื่อของบุคคลที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม  ซึ่งเป็นเหตุทำให้มีปัญหาสุขภาพจิตและจิตเวช ช่วยให้บุคคลปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อของตนให้เกิดความคิดที่ถูกต้อง เหมาะสม  และสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น การศึกษาต่อมาพบว่าความคิดและพฤติกรรมบำบัด  เป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดในโรคซึมเศร้า  เป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง  จนศาสตราจารย์นายแพทย์แอรอน ที. เบ็ค ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาด้านความคิดและพฤติกรรมบำบัด  ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้มากกว่า 120 ล้านคนต่อปี  โดยเฉพาะลดการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี

 
 
  ดร.เดวิด ที. วอง (Dr.David T. Wong) 
  ศาสตราจารย์สมทบ (Adjunctive Professor)  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
  มหาวิทยาลัยอินเดียนา  รัฐอินเดียนา ประเทศสหรัฐอเมริกา
     ดร.เดวิด ที. วอง เป็นผู้ค้นพบยา ฟลูอ๊อกซีทีน (fluoxetine)  ซึ่งเป็นยาตัวแรกในกลุ่ม เอส เอส อาร์ ไอ (SSRI: selective serotonin reuptake inhibitor) โดยเริ่มทำการศึกษาค้นคว้าและวิจัย  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1970 และใช้เวลากว่า 15 ปี ก่อนจะได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้วางจำหน่ายได้ภายใต้ชื่อ โปรแซค (Prozac)  2 ปี ต่อมา ได้รับการยอมรับว่าเป็นยารักษาโรคซึมเศร้าที่มีประสิทธิภาพสูง มีความปลอดภัยมาก ผลข้างเคียงน้อย  โดยใช้ยาเพียงวันละหนึ่งครั้ง  จึงมีการใช้ยานี้อย่างแพร่หลาย  ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้านับร้อยล้านคนทั่วโลก  นอกจากนี้ฟลูอ๊อกซีทีน (fluoxetine) ยังเป็นต้นแบบของการพัฒนายารักษาโรคซึมเศร้าอีกหลายชนิดต่อมา
     ทั้งความคิดและพฤติกรรมบำบัด และยาฟลูอ๊อกซีทีนต่างให้ผลในการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดี  แต่เมื่อใช้ความคิดและพฤติกรรมบำบัด และยาฟลูอ๊อกซีทีนร่วมกันพบว่าทำให้ผลการรักษาดียิ่งขึ้น
 
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2554
สาขาสาธารณสุข
 
 
  ดร.รูธ เอฟ. บิชอป  (Dr.Ruth F. Bishop)
ศาสตราจารย์เกียรติยศ (Professorial Fellow) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และนักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเด็กเมอด็อค รัฐวิกตอเรีย
ประเทศออสเตรเลีย
     ดร.รูธ เอฟ. บิชอป เป็นบุคคลแรกที่พบว่าโรคท้องร่วงรุนแรงที่เกิดในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปีทั่วโลก  โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำ  และรายได้ต่ำปานกลางในแถบทวีปอัฟริกาและเอเชีย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตราว 5 แสนคนต่อปี  เกิดจากเชื้อไวรัสโรต้า  โดยในปี พ.ศ. 2516 ดร.รูธ เอฟ. บิชอปได้พิสูจน์โดยนำเซลล์ลำไส้เล็กของเด็กที่ป่วยมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์อีเล็กตรอนพบเชื้อไวรัสมีลักษณะคล้ายวงล้อรอบๆ  ให้ชื่อว่า “ไวรัสโรต้า”
นอกจากนี้  ดร.รูธ เอฟ. บิชอป  ยังค้นพบว่าทารกแรกเกิดมีภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านเชื้อไวรัสโรต้าได้  เป็นพื้นฐานนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า   โดยตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา ถือเป็นมาตรฐานที่เด็กๆ ออสเตรเลียทุกคน จะได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโรต้า  เป็นที่ยอมรับและใช้กันแพร่หลาย ทั่วโลกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก  ช่วยรักษาชีวิตและสุขภาพอนามัยเด็กนับล้านคนทั่วโลก