ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุน โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

วันนี้ (29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559)  เวลา 13.30 น.  ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  นายเสข  วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ศาสตราจารย์ นายแพทย์วิจารณ์  พานิช ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันประกาศผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559 ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช อาคารหอสมุดศิริราช ชั้น 4 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุน “โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล” ประจำปี 2559 ได้แก่

  1. นายชโนดม เพียรกุศล            คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. นายณัฐภัทร ศิริอังกุล             คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. นายธนกฤต พงพิทักษ์เมธา     คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  4. นายบุญยเกียรติ ธรรมเศรษฐ์    คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  5. นายวิณห์ กุลวิชิต                   คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  2559 ทั้งสิ้น 12 ราย จาก 5 สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 ราย ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกโครงการเยาวชนฯ ได้พิจารณากลั่นกรองคัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2559

 


 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการ  และคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย  ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

 

นายชโนดม เพียรกุศล

คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            นายชโนดม เพียรกุศล เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจในเรื่องการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน สำหรับประชาชนอย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของ ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลถือเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ในประเทศไทย การลดอัตราการเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาลสามารถทำได้โดยการเริ่มปฎิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยผู้พบเห็นเหตุการณ์อย่างทันที ดังนั้นการทำให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้และความตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับ การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนั้นจะสามารถเพิ่มอัตราการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานโดยผู้พบเห็นเหตุการณ์ได้ โดยหลักสูตรการสอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานควรได้รับการบรรจุลงในหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ และควรมีเปิดสอนสำหรับประชาชนทั่วไป สำหรับประเด็นอื่นที่นายชโนดม สนใจจะไปศึกษา ประกอบด้วย เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ การบันทึกลงทะเบียน ข้อมูลการศึกษาวิจัย ปัจจัยด้านงบประมาณ  และ นโยบายกฎหมายจากทางภาครัฐบาลตลอดจนเอกชนที่คอยช่วยสนับสนุน

โดย นายชโนดม เพียรกุศล มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2559
  • รางวัลนักศึกษาดีมาก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รางวัลทุนสมาคมศิษย์เก่าแพทย์เชียงใหม่ศึกษาดูงาน ณ Columbia University, New York, USA
ปีการศึกษา 2558
  • ประธานฝ่ายนักศึกษาสัมพันธ์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • วิทยากรอาสาช่วยสอนการช่วยชีวิตฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนทั่วไป ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีการศึกษา 2557
  • เหรียญรางวัลเรียนดีแพทยศาสตร์บัณฑิต ระดับชั้นปีที่ 4
  •  นำเสนอผลงาน Oral Presentation เรื่อง “Cheering and the Ultimate aim of Education” ในการประชุม AMEE 2014 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
  • รางวัลทุนสมาคมศิษย์เก่าแพทย์เชียงใหม่ศึกษาดูงาน National University of Singapore ประเทศสิงค์โปร์
  • โครงการสำรวจปัญหาสุขภาพของชุมชน “การตรวจคัดกรองหา โรคทางเดินหายใจอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ด้วย Peak Flow Meter แบบสอบถาม และการตรวจร่างกาย” ตำบลทาขุมเงิน จังหวัดลำพูน
  • ร่วมออกหน่วยบริการชุมชน และ ให้คำแนะนำด้านสุขภาพพื้นฐาน อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน
ปีการศึกษา 2556
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 Oral Presentation “Ride It Green” ในการประชุม 11th IFMSA Asia Pacific Regional Meeting ณ เมือง ยอร์กยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
  • ผู้แทนนักศึกษาแพทย์ประเทศไทยกล่าวคำขอบคุณองค์กร ในการประชุม 100th Anniversary Celebration of China Medical Board ณ กรุงเทพฯ
ปีการศึกษา 2555
  • ประธานเชียร์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2555-2556
  • ประธานจัดทำหนังสือ The Quota Survival  สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ปีการศึกษา 2554
  • ประธานนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 1, เหรียญรางวัลเรียนดีแพทยศาสตร์บัณฑิต ระดับชั้นปีที่ 1
  • ประธานโครงการหัวใจดวงน้อยสู่แดนดอยอันกว้างใหญ่ จัดค่ายอาสา ณ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

 


 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

 

นายณัฐภัทร ศิริอังกุล

คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

            นายณัฐภัทร ศิริอังกุล เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความสนใจเกี่ยวกับความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจอันเนื่องมาจากภาวะธาตุเหล็กเกิน (iron overload cardiomyopathy) ซึ่งเป็นสาเหตุแห่งการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย (thalassemia) แม้ธาลัสซีเมียจะเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดถ่ายทอดด้วยยีนเดียว (monogenic disorder) ที่พบได้บ่อยที่สุดในโลก ทว่าภาวะแทรกซ้อนของโรคดังกล่าวยังไม่ได้รับการวิจัยอย่างเพียงพอและยังปราศจากการรักษาที่มีประสิทธิภาพ  ข้อจำกัดนี้เป็นที่มาของการมุ่งศึกษากลไกทางพยาธิสรีรวิทยาของความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจอันเนื่องมาจากภาวะธาตุเหล็กเกิน โดยอาศัยวิธีทางอณูชีววิทยาสืบค้นความผิดปกติของการสื่อสัญญาณด้วยแคลเซียม (calcium signaling) ในระดับส่วนย่อยของเซลล์ (subcellular microdomain) ความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะดังกล่าวจะนำไปสู่การประยุกต์ใช้ทางคลินิกอย่างกว้างขวางในอนาคต อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจำนวนมากทั่วโลกสืบไป

            โดยนายณัฐภัทร ศิริอังกุล มีเกียรติประวัติต่าง ๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2558
  • โล่เกียรติคุณแพทยสภา นักศึกษาแพทย์ที่ประพฤติตนดีเด่นในเชิงคุณธรรม-จริยธรรม
ปีการศึกษา 2557
  • โล่เกียรติคุณ รางวัลนักศึกษาแพทย์ดีเด่นด้านวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • รางวัลอันดับที่ 8 จาก Inter-Medical School Physiology Quiz (IMSPQ) ณ University of Malaya, Malaysia
ปีการศึกษา 2556
  • ทำการวิจัย ณ Cardiac Electrophysiology Research and Training Center (CERT):
  • Heart Rate Variability as an Alternative Indicator for Identifying Cardiac Iron Status in Non-Transfusion Dependent Thalassemia Patients (PloS one. 2015;10(6):e0130837.)
  • Vildagliptin and Caloric Restriction for Cardioprotection in Pre-diabetic Rats (J Endocrinol. Published online before print. Nov 14, 2016. doi: 10.1530/JOE-16-0406)
ปีการศึกษา 2554 – 2558
  • รางวัลผลการเรียนดีเยี่ยม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีการศึกษา 2554
  • รางวัลคะแนนยอดเยี่ยมชั้นปีที่ 1 (แพทยศาสตร์) มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร.แถบ นีละนิธิ
ปีการศึกษา 2552
  • รางวัลเหรียญทอง การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 7
ปีการศึกษา 2551 – 2553
  • สมาชิกโครงการพัฒนาผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์จัดโดยภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปีการศึกษา 2548 – 2550
  • สมาชิกโครงการค่ายส่งเสริมและพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รุ่นที่ 1 จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

 


 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

 

นายธนกฤต พงพิทักษ์เมธา

คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            นายธนกฤต พงพิทักษ์เมธา เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในดูแลรักษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของโรคผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะการช่วยคัดกรองและวินิจฉัยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่เกิดปัญหาภาวะสมองเสื่อมตามมา (Post stroke dementia) โดยอาศัยการใช้แบบสอบถามทางด้านพุฒิปัญญา (Cognitive assessment tools) เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศโดยเฉพาะในสังคมไทยที่กำลังก้าวเข้าไปสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตเป็นอันดับต้นๆ อาการและอาการแสดงของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมักจะมาด้วยอาการอ่อนแรงแขนขาครึ่งซีกเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งเกิดปัญหาบกพร่องทางด้านพุฒิปัญญา (Cognitive function) หรือภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ภายหลังเกิดโรคหลอดเลือดสมอง อันก่อให้เกิดภาระต่อทั้งตัวผู้ป่วย ครอบครัว และระบบสุขภาพในระยะยาว โดย World Stroke Proclamation day 2015 ได้กล่าวถึง ภาวะสมองเสื่อมที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง (Vascular dementia) ว่าเป็นภาวะที่ถูกละเลย และเป็นโรคสำคัญที่ต้องช่วยกันดูแลรักษา เพราะการตรวจคัดกรองโรคเพื่อวินิจฉัยและให้การรักษาได้อย่างรวดเร็วจะส่งผลในทางที่ดีต่อผู้ป่วยเป็นอย่างมาก ดังนั้นการศึกษาวิจัยด้านการคัดกรองและวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาดังกล่าวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นต่อไป

            โดยนายธนกฤต พงพิทักษ์เมธา มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2559
  • รางวัลเกียรติบัตรนักกิจกรรม ประจำปี 2558 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นักเรียนแลกเปลี่ยน ณ Weill-Cornell University, New York, United States of America
ปีการศึกษา 2558
  • นายกสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผลงานดีเด่นตลอดการปฏิบัติงาน อาทิ โครงการเข็มวันอานันทมหิดล โครงการ “แพทย์จุฬาฯรวมใจสู่เนปาล (MDCU for Nepal) โครงการ “สถานีต่อไป..แพทย์จุฬาฯ” โครงการ “สูงวัยสูงสุขภาพ” และโครงการ “6 โครงการ ตามรอยพระเมตตา 60 พรรษามหาจักรีสิรินธร”
  • รางวัลเยาวชนคนเก่ง ในโครงการด้วยรักและห่วงใย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รุ่นที่ 7/2558
  • รางวัล “นิสิตดี ศรีจุฬาฯ” ประจำปีการศึกษา 2558
  • รางวัลคะแนนข้อเขียนและคะแนนรวมสูงสุดรายวิชามูลฐานการวิเคราะห์ทางเวชศาสตร์ (Evidence Based Medicine) ประจำปีการศึกษา 2558
  • นำเสนอโปสเตอร์หัวข้อ “Student Engagement in Curriculum Planning: the Mixed Methods Evaluation” ในงาน 17th Ottawa Conference and the ANZAHPE 2016 Conference
ปีการศึกษา 2557
  • รองประธานค่ายสอนหนังสือ ฝ่ายศานติธรรม คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ โรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
ปีการศึกษา 2556
  • ประธานฝ่ายวินัยและนิสิตสัมพันธ์ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • รางวัลนักกิจกรรมดีเด่น ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 


 

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

นายบุญยเกียรติ ธรรมเศรษฐ์

คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            นายบุญยเกียรติ ธรรมเศรษฐ์  เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในการนำการศึกษาทางอณูพันธุศาสตร์ (Molecular genetics) มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาพยาธิกำเนิดและพยากรณ์การเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ ในปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าพยาธิกำเนิดของโรคครรภ์เป็นพิษเกิดจากอะไรและเป็นที่ทราบกันดีว่าโรคครรภ์เป็นพิษ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในผู้หญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงที่เป็นครรภ์แรก ทำให้การทำนายว่าผู้หญิงคนใดจะเกิดภาวะนี้เป็นเรื่องยาก  ดังนั้นการนำเอาความรู้ทางอณูพันธุศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับการศึกษาในโรคครรภ์เป็นพิษจึงเป็นอีกหนึ่งวิธีในการหาคำตอบ จึงเป็นที่มาของการศึกษาสารพันธุกรรม  ไมโครอาร์เอ็นเอ (miRNA) ในตัวอย่างเลือดจากผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ  เพื่อเปรียบเทียบหาชนิดและหน้าที่ของไมโครอาร์เอ็นเอที่แสดงออกต่างกันเมื่อเทียบกับคนปกติ รวมทั้งนำไมโครอาร์เอ็นเอชนิดที่สนใจมาใช้ในการพยากรณ์การเกิดโรคครรภ์เป็นพิษ โดยหวังว่าหากสามารถพบไมโครอาร์เอ็นเอที่อธิบายพยาธิกำเนิดของโรค ก็จะสามารถเข้าใจกลไกของโรค และสามารถพัฒนาวิธีการรักษาและป้องกันการเกิดโรคครรภ์เป็นพิษได้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนนำมาใช้ในการพยากรณ์การเกิดโรคเพื่อที่จะให้การป้องกันและรักษาก่อนที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรค ทั้งในมารดาและทารก

            โดยนายบุญยเกียรติ ธรรมเศรษฐ์  มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2559
  • นำเสนองานวิจัย Poster presentation หัวข้อเรื่อง The Decreased Expression of miR-10a in Mesangial Cells Treated with Anti-dsDNA Antibodies and in Lupus Nephritis kidney tissues ในงานประชุม International Congress of Immunology ณ เมือง Melbourne ประเทศ Australia
ปีการศึกษา 2558
  • ทำงานวิจัยเรื่อง “The Decreased Expression of miR-10a in Mesangial Cells Treated with Anti-dsDNA Antibodies and in Lupus Nephritis kidney tissues” ร่วมกับ ศ.ดร.พญ. ณัฏฐิยา หิรัญกาญจน์ หน่วยภูมิคุ้มกันวิทยา ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • วิทยากร ในงานเสาวนา ค่ายอยากเป็นหมอ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2557
  • วิทยากรแนะนำแนวทางการศึกษาต่อในคณะแพทยศาสตร์ แก่นักเรียนชั้นมัธยมปลาย และผู้ปกครอง ในงาน MDCU Open House คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2556
  • IFMSA Medical Student Exchange Program (Research Exchange), Department of Genetics and Molecular Biology, Faculty of Science, Masaryk University, Brno, Czech Republic
ปีการศึกษา 2555
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นนิสิตแพทย์รับทุนโครงการเพชรชมพู คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ได้รับการคัดเลือกเป็นกลุ่มตัวแทนนิสิตและผู้อัญเชิญพระเกี้ยวประจำงานฟุตบอลประเพณี ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 69 ในการเข้าร่วมกิจกรรมพิธีการต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2554
  • รางวัลพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เยาวชนดีเด่นแห่งชาติ สาขาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี ประจำปี 2554
  • เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน  Asian Medical Students Exchange Program (AMSEP)  ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

 


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2559

นายวิณห์ กุลวิชิต

คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

            นายวิณห์ กุลวิชิต เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจศึกษาวิจัยในหัวข้อการทำนายการฟื้นตัวของไตในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากการตรวจตัวบ่งชี้ทางชีวภาพใน Exosome จากปัสสาวะ ภาวะไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่พบได้บ่อย มีความรุนแรง และก่อให้เกิดผลกระทบมากมายต่อผู้ป่วย เช่นความผิดปกติของสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย หรือ ภาวะไตวายเรื้อรัง ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลงเป็นอย่างมาก หากแพทย์สามารถทำนายการฟื้นตัวของไตในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันได้ก็จะสามารถเลือกวิธีการดูแลรักษาที่เหมาะสมที่สุดให้แก่ผู้ป่วยและลดการเกิดผลแทรกซ้อนของภาวะไตวายเฉียบพลัน อย่างไรก็ตามในปัจจุบันการทำนายการฟื้นตัวของไตในผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันทำได้ค่อนข้างยาก ดังนั้นการประสานนำความรู้ชีววิทยาเชิงโมเลกุลและชีววิทยาเชิงระบบเข้ามาช่วยศึกษาอาจนำไปสู่การค้นพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่จะสามารถทำนายถึงการฟื้นตัวของไตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการศึกษานี้สนใจศึกษาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพใน Exosome ของปัสสาวะ โดย Exosome เป็นชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ถูกสร้างและหลั่งออกมาจากเซลล์เพื่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ ความสำเร็จของการศึกษานี้จะสามารถนำไปสู่การรักษาที่แม่นยำและเหมาะสมกับผู้ป่วยภาวะไตวายเฉียบพลันแต่ละคนได้ในอนาคต

            โดยนายวิณห์ กุลวิชิต มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2559
  • ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปศึกษากลุ่มวิชาเลือกบังคับที่ต่างประเทศ ณ  Cornell University, United States of America
ปีการศึกษา 2558
  • ได้รับรางวัล ASPIRE for Excellence Award สาขา Student Engagement ในการประชุม Association for Medical Education in Europe (AMEE) 2015
  • อุปนายกคนที่ 3 สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ทำงานวิจัยและนำเสนอ Poster หัวข้อ “Student Engagement in Curriculum Planning: the Mixed Methods Evaluation” ในการประชุม 17th Ottawa Conference and the ANZAHPE 2016 Conference, Perth, Australia
ปีการศึกษา 2557
  • ทำงานวิจัยและนำเสนอ Poster หัวข้อ “Development of the Web-based Formative Test: the Assessment of Students, by Students, for Students; The Impact of iPads on the Pre-clinical Students’ Lifestyle; Learning in the 21st Century: Identifying the Gap between the Expectation and the Reality  และ “Does Multimedia Learning Theory Apply to Medical Students?”  ในการประชุม AMEE 2014 Conference, Milan, Italy
ปีการศึกษา 2556
  • ประธานฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ประธานโครงการแข่งขันตอบปัญหาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องในสัปดาห์วันอานันทมหิดล
  • ประธานกรรมการ SCORA (Standing Committees of Reproductive Health including HIV/AIDS) สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (IFMSA-Thailand)
  • วิทยากรโครงการค่ายสอนหนังสือ ณ โรงเรียนมัธยมวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร