ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555

 วันนี้ (30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555)   เวลา 13.30 น.   ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์ สุพัฒน์  วาณิชย์การ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์    นายธานี  ทองภักดี   อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ    รองศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินการ โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล และ ศาสตราจารย์นายแพทย์สมภพ  ลิ้มพงศานุรักษ์  ประธานคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ได้ร่วมกันแถลงข่าวผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555               ณ โถงหน้าห้องมหิดลอดุลเดช  อาคารหอสมุดศิริราช  ชั้น 4  คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล  มหาวิทยาลัยมหิดล  

     สำหรับผู้ได้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  ประจำปี 2555  ได้แก่

1. นายคณวัฒน์  จันทรลาวัณย์            คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. นายจิรายุ  จันทนาโกเมษ               คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3. นายภัสสิษฎ์  เหล่าวีรวัฒน์              คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
4. นายวิทวัส  เติมกลิ่นจันทน์              คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
5. นายสมาทร  ถกลวิบูลย์                   คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

     ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้รับพระราชทานทุนโครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี  2555  ทั้งสิ้น  7 ราย  จาก  3  สถาบัน โดยผ่านเกณฑ์ตามคุณสมบัติของโครงการเยาวชนฯ 5 ราย  คณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนฯได้พิจารณากลั่นกรอง คัดเลือกและนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ  สยามบรมราชกุมารี  ทรงเป็นองค์ประธาน  ได้พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่  25  มิถุนายน  พ.ศ. 2555   

    

     โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล   ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  20  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2550 ตามมติที่ประชุมกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ครั้งที่ 2/ 2550 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนไทยที่รักและมุ่งมั่นในวิชาชีพด้านการแพทย์ ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร  อดุลยเดชวิกรม  พระบรมราชชนก ดำเนินการคัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการ  คณะกรรมการดำเนินการและคณะกรรมการคัดเลือก โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล  เมื่อคัดเลือกได้ผู้ที่มีคุณสมบัติตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการเยาวชนฯ จะนำรายชื่อแจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการตัดสิน
    

ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับพระราชทานทุนไปปฏิบัติงานด้านการศึกษาวิจัย  ฝึกปฏิบัติวิชาชีพ  หรือทำงานด้านการพัฒนาชุมชน ในต่างประเทศหรือในประเทศเป็นเวลา 1 ปี   โดยจะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายต่างๆ  และให้นับเวลาการไปครั้งนี้ รวมเป็นเวลาของการใช้ทุนหลังจากศึกษาแพทย์จบแล้วด้วย

    

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555
นายคณวัฒน์  จันทรลาวัณย์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     นายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการพัฒนาระบบการบริหารจัดการโรคไข้สมองอักเสบของประเทศไทย  เนื่องจากโรคไข้สมองอักเสบนั้นเป็นโรคที่สร้างความเสียหายต่อสมองอย่างรุนแรง จนเกิดภาวะทุพพลภาพและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ในประเทศไทยพบว่าผู้ป่วยจำนวนมากกว่าครึ่งยังไม่สามารถระบุเชื้อก่อโรคหรือสาเหตุของโรคได้ ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะทำให้อัตราการเกิดของโรคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น โครงการนี้จึงมีวัตถุประสงค์หลักที่จะนำความรู้ในการบริหารจัดการโรคไข้สมองอักเสบตั้งแต่  การสืบสวนสอบสวนโรค  การบริหารงานระหว่างแพทย์และบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องให้มีความเชื่อมโยง  การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบในสถานพยาบาล  จากศูนย์โรคไข้สมองอักเสบในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีประสบการณ์การจัดการเรื่องการระบาดของโรคนี้  เพื่อที่จะนำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้นมาประยุกต์และพัฒนาต่อยอดให้มีความเหมาะสมกับสถานพยาบาลในประเทศไทย  อันนำมาซึ่งการลดการสูญเสียทั้งต่อผู้ป่วย  ครอบครัวของผู้ป่วย  และสังคมไทยต่อไป 

     โดยนายคณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2554   – ได้เข้าร่วมศึกษาและปฏิบัติงาน ณ  Information Center for Emerging Diseases, WHO Collaborating Centre for Research and Training on Viral Zoonoses และ Molecular Biology Laboratory for Neurological  Disease, King Chulalongkorn  Memorial Hospital ภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

         – เข้าร่วมประชุมวิชาการในหัวข้อเรื่อง “Days of Molecular Medicine 2011: Re-engineering and Regenerative Medicine”       ระหว่างวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ณ  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย  Hong Kong   University เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ปีการศึกษา 2553  ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพชรชมพู (Research Track) ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย      และได้ทำงานวิจัยในหัวข้อเรื่อง “Genetic and epigenetic regulation of progression in HIV patients”   ภายใต้การกำกับดูแลของ ศ.นพ. ดร.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร                                                                                                                         
ปีการศึกษา 2552   ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนของสมาพันธ์ นิสิต    นักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย  ณ แผนกศัลยกรรมทั่วไป  (General-Visceral-Vascular Surgical Department)        คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Otto-von-Guericke เมือง Magdeburg ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ปีการศึกษา 2551    เป็นอาสาสมัครค่ายจามจุรีศรีเขลางค์ “Chula Lampang Camp” เพื่อแนะแนวการศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาแก่นักเรียน   ในระดับชั้นมัธยม ศึกษาตอนปลายในจังหวัดลำปาง

ปีการศึกษา 2548   -ได้รับรางวัล “Outstanding in Academic Achievement” จาก President’s Education Awards Program ประเทศสหรัฐอเมริกา                                     

                                 -ได้รับรางวัล “Excellency in Academic Performance in Chemistry” จาก President’s Education Awards Program  ประเทศสหรัฐอเมริกา


โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555
นายจิรายุ  จันทนาโกเมษ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     นายจิรายุ จันทนาโกเมษ นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความสนใจที่จะทำโครงการตรวจคัดกรองและป้องกัน HIV/AIDS และโรคอุบัติใหม่ในแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพในประเทศไทย ซึ่งโครงการนี้มีแรงบันดาลใจทั้งหมดสองส่วนคือ ด้านแรกคือการเห็นความสำคัญของการแพร่ระบาดโรค HIV/AIDS ในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้ยังมีอัตราการแพร่เชื้อสูงเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าการสาธารณสุขของประเทศไทยนั้นจะพัฒนาแล้ว  แต่การควบคุมการระบาดของโรคนี้ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องจากว่าการแพร่ระบาดของโรคนั้นมาจากหลายสาเหตุเป็นสำคัญ ซึ่งได้มีการรณรงค์ด้านการป้องกันมากมาย โดยเฉพาะในเยาวชน กลุ่มรักร่วมเพศ เป็นต้น อย่างไรก็ตามอีกกลุ่มของการแพร่ระบาดนั้นก็มาจากแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพแต่อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก จึงนำมาสู่แรงบันดาลใจส่วนที่สอง ความสนใจด้านของสิทธิมนุษชน โดยเฉพาะในกลุ่มของผู้อพยพ ที่ในประเทศไทยนั้นมีมากมาย  แต่องค์กรที่จะเข้ามาช่วยเหลือนั้นยังมีอยู่น้อย  จึงมีความสนใจที่จะมุ่งความสนใจไปสู่ประชากรกลุ่มนี้   โดยทั้งนี้การป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อในกลุ่มแรงงานต่างด้าวและผู้อพยพหากทำสำเร็จ   ก็จะเป็นการลดการกระจายสู่ประชากรไทยในที่สุด    การศึกษาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นที่จะศึกษาการควบคุมโรค และการเข้าสู่ประชากรกลุ่มผู้อพยพเป็นสำคัญ

     โดยนายจิรายุ จันทนาโกเมษ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2554    – เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม “กาวน์อาสา” หรือ “Medical student outreach” ซึ่งเป็นกลุ่มของนักศึกษาแพทย์    ในคณะแพทยศาสตร์     ศิริราชพยาบาล   ที่สนใจในการทำกิจกรรมช่วยเหลือพัฒนาสังคมและเพื่อนมนุษย์   โดยกิจกรรมที่ได้จัดไป   เช่น การรณรงค์บริจาคอวัยวะและดวงตาในโรงพยาบาลศิริราช  โครงการ “นักศึกษาแพทย์ศิริราช…ร่วมใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม” โครงการออกชุมชนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและแจกเสื้อหนาว ณ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

                                 – เข้าร่วมการประชุมและแสดงความคิดเห็นร่างเกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายยาของประเทศไทย  ในฐานะนักศึกษาแพทย์   เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับความเกี่ยวข้องของบริษัทยากับโรงพยาบาลและสถานศึกษา

ปีการศึกษา 2553  ดำรงตำแหน่งประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย (International Federation of Medical Students’ Associations) โดยได้เข้าร่วมประชุมกับนักศึกษาแพทย์ต่างประเทศทั่วโลก ณ ประเทศต่างๆ เช่น อินโดนีเซีย    ตูนีเซีย มาซิโดเนีย

ปีการศึกษา 2552   – เป็นรองประธานจัดการประชุมสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติประจำเดือนมีนาคม ครั้งที่ 59 ณ กรุงเทพฯ    ประเทศไทย   และเข้าร่วมการประชุมในฐานะประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยมีนักศึกษาแพทย์จากทั่วโลกกว่า 90 ประเทศ รวม 800 คนมาประชุมที่ประเทศไทย   ถือได้ว่าเป็นครั้งที่ 2 ของเอเชียที่สามารถจัดการประชุมของสมาพันธ์ฯ

                                   – หัวหน้าฝ่ายการแลกเปลี่ยนประจำประเทศไทย (National exchange officer) ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่ง     ประเทศไทยประจำปี 2552 มีหน้าที่ดูแลการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของนักศึกษาแพทย์ทั่วประเทศไทยกว่า 90 ราย       เพื่อให้ไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศต่างๆ อย่างราบลื่น รวมทั้งติดต่อสัญญาแลกเปลี่ยนกับประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศทั่วโลก

                                    – ดำรงตำแหน่งประธานชั้นปีที่ 3 ของนักศึกษาแพทย์ศิริราช

ปีการศึกษา 2550    – เป็นตัวแทนคณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาลได้รับรางวัล ชนะเลิศอันดับที่ 1 ในการแข่งขันโต้วาทีของคณะศิลปศาสตร์       มหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2550
   

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555


นายภัสสิษฎ์  เหล่าวีรวัฒน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     นายภัสสิษฎ์ เหล่าวีรวัฒน์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการ “ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบกู้ชีพเพื่อการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่เกิดภาวะวิกฤติในประเทศไทย” ความสนใจในเรื่องนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความจริงที่ว่ามีการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในหอผู้ป่วยทั่วไปเป็นจำนวนมาก  ซึ่งเป็นภาพคุ้นตาและนำมาสู่ภาระต่อระบบสาธารณสุข ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้ป่วยมีภาวะสมองขาดออกซิเจน  ต้องอาศัยเครื่องช่วยหายใจ  ซึ่งการดูแลผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก   เราไม่สามารถเพิ่มจำนวนหอผู้ป่วยวิกฤติที่จะดูแลผู้ป่วยเหล่านี้ได้มากเนื่องจากต้องใช้งบประมาณสูง   จึงหันมาสนใจการใช้ระบบการแจ้งเตือนแพทย์   การมีทีมที่ดูแลผู้ป่วยก่อนเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น  ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบกู้ชีพที่จะเข้ามามีส่วนในการป้องกันการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นในหอผู้ป่วยทั่วไป  โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ การศึกษาการจัดตั้งระบบกู้ชีพที่มีประสิทธิภาพ และสร้างยุทธศาสตร์การนำระบบที่เหมาะสมกลับมาใช้ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะวิกฤติได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที และเหมาะสม

     นายภัสสิษฎ์ เหล่าวีรวัฒน์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2554    ร่วมกิจกรรมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  ด้วยการช่วยคัดกรองผู้อพยพก่อนเข้าศูนย์พักพิงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ช่วยจัดสิ่งของลงถุงยังชีพ  ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลด้านระบาดวิทยาที่จังหวัดสระบุรี

ปีการศึกษา 2553        ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนแพทย์ฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกที่ประเทศเยอรมันนีในโครงการ SCOPE (Standing Committee on Professional Exchange Program) ขององค์กร IFMSA ระหว่างเดือนมีนาคม ถึง เมษายน 2553
        ทำงานวิจัย “The impact of the mock spot test: the assessment of students, by students, for students” ได้รับคัดเลือกให้นำเสนอ Oral presentation ใน 7th Asia Pacific Medical Education Conference ณ National University of Singapore

ปีการศึกษา 2552    – ประธานฝ่ายวิชาการ   สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        – ผู้ช่วยประธานฝ่ายกิจการในประเทศ  สมาพันธ์นักศึกษาแพทย์นานาชาติแห่งประเทศไทย
        – นิสิตผู้รับผิดชอบโครงการแข่งขันตอบปัญหาชีววิทยาและวิทยาศาสตร์การแพทย์เนื่องในวันอานันทมหิดล ประจำปี 2552
 

ปีการศึกษา 2551    – พิธีกรในงานเสวนาเนื่องในวันอานันทมหิดลประจำปี 2551 ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
            – ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนแพทย์ที่ประเทศอินโดนีเซียในโครงการ AMSEP ของ AMSATH  (Asian Medical Students Association–Thailand) ระหว่าง 22-27 เมษายน พ.ศ. 2551

ปีการศึกษา 2550    – ได้รับรางวัลนิสิตผู้ทำคะแนนสูงสุดในรายวิชา “Behavioral Sciences” โดยภาควิชาจิตเวชศาสตร์
        – ได้รับรางวัลรองชนะเลิศการแข่งขันโต้วาทีประเพณีน้องใหม่  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
        – เข้าร่วมการประชุม และได้รับรางวัลรองชนะเลิศการแข่งขันนำเสนองานวิจัย Oral presentation ในหัวข้อ “Thailand’s          Alcohol Status Quo: Medical Students’ Perspective” ใน East Asian Medical Students’ Conference ครั้งที่ 21
    
    
                               โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555


นายวิทวัส  เติมกลิ่นจันทน์
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
     นายวิทวัส เติมกลิ่นจันทน์ เป็นนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยเรื่อง “การพัฒนาองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) เพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด” ความสนใจในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญมากทั้งในประเทศไทย และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก   สถานการณ์โรคหัวใจและหลอดเลือดปัจจุบันมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  รวมถึงการรักษาที่มีอยู่ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เนื่องจากความสามารถของการฟื้นตัวของเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจนั้นเกิดขึ้นได้ยากมาก การริเริ่มนำองค์ความรู้ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูภาวะเสื่อม   ซึ่งประกอบด้วยการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิด   สารชีวโมเลกุลและวิศวกรรมเนื้อเยื่อ   จึงเป็นความหวังของการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดแนวใหม่  เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต  ลดอัตราการเจ็บป่วย และลดความสูญเสียต่อผู้ป่วย ครอบครัวและประเทศชาติ

     โดยนายวิทวัส เติมกลิ่นจันทน์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2554    ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปีการศึกษา 2553    -ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเพชรชมพู-นักวิจัย ทำงานวิจัยเรื่อง “ภาวะเหนือพันธุกรรมของเซลล์ต้นกำเนิด” ร่วมกับ  ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร
         -ได้รับเลือกเป็นนิสิตดีเด่น ระดับปริญญาตรี  ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2552    – เป็นผู้แทนคณะในการแข่งขัน “7th Inter-Medical School Physiology Quiz” ณ ประเทศมาเลเซีย  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง

         – เป็นผู้ช่วยนักวิจัย โดยทำงานวิจัยร่วมกับ ผศ.ดร.นิพัญจน์ อิศรเสนา ณ อยุธยา เรื่อง “Epigenetic regulation of neural gene  expression in mouse mesenchymal stem cells” และนำเสนอผลงานที่งานประชุมวิชาการนานาชาติ 9th Annual Meeting of  International Society for Stem Cell Research

ปีการศึกษา 2551      ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 2 สโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  โดยเป็นนิสิตผู้รับผิดชอบพิธีพระราชทานเพลิงศพผู้อุทิศร่างกายเพื่อการศึกษาและโครงงานรับน้องใหม่

ปีการศึกษา 2550    – ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันตอบปัญหาภาษาอังกฤษในโครงการ “Ellis Championship 2007” ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับทุนการศึกษาเพื่อไปศึกษาดูงานที่ National University of  Singapore สาธารณรัฐสิงคโปร์
                           – ได้รับรางวัลรองชนะเลิศในการแข่งขันโต้วาทีภาษาอังกฤษระหว่างมหาวิทยาลัยในงาน American and the World Debating  Championship คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปีการศึกษา 2549    ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม The Sun Award จากโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โครงการศึกษานานาชาติ ที่ให้            นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีความโดดเด่นและเพรียบพร้อมตลอดระยะเวลาที่ศึกษา

โครงการเยาวชนรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2555

นายสมาทร  ถกลวิบูลย์
       คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
     นายสมาทร ถกลวิบูลย์ เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 6 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มีความมุ่งมั่นที่จะทำโครงการศึกษาวิจัยด้าน การทำงานในระดับโปรตีนของเซลล์ต้นกำเนิดของระบบประสาท เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันและรักษาโรคทางระบบประสาทต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเจริญและการเสื่อมของเซลล์  อาทิ  โรคความเสื่อมของระบบประสาท และโรคมะเร็ง เนื่องจากโรคเหล่านี้             ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ครอบครัว ผู้ดูแล ตลอดจนงบประมาณทางสาธารณสุขของประเทศชาติอย่างมาก

     โดยนายสมาทร ถกลวิบูลย์ มีเกียรติประวัติต่างๆ อาทิ

ปีการศึกษา 2555    ประธานจัดการประชุมผู้นำนักศึกษาแพทย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปีการศึกษา 2554   – หัวหน้าโครงการวิจัยปัญหาสุขภาพที่เกิดจากอุทกภัย และอาสาสมัครออกหน่วยให้บริการทางสาธารณสุขและความรู้สุขศึกษา ในช่วงวิกฤตการณ์อุทกภัย

ปีการศึกษา 2553   – ดำรงตำแหน่งประธานชมรมวิเทศสัมพันธ์
                    – ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมการประชุม Asia conference 2010 of Harvard Project for Asia and International Relations

                    –  ทำโครงการวิจัยศึกษาปัจจัยการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชนบท และแนวทางการป้องกัน ร่วมกับ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลท่าหลวง จังหวัดลพบุรี

ปีการศึกษา 2552   – ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ ในการประกวดโครงการวิจัยเรื่อง  การศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและทัศนคติของบุคคลรอบข้าง ต่อผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน  ในการประชุมสามัญประจำปีของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์เอเชีย
         – ดำรงตำแหน่งประธานจัดการประชุมสามัญปะจำปี ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์นานาชาติ

         – เข้าร่วมการประชุมนิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 23 ของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งเอเชีย   ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สาธารณรัฐมาเลเซีย และออกหน่วยตรวจสุขภาพในชุมชนแออัด ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ร่วมกับสมาพันธ์ฯ

ปีการศึกษา 2551 ได้รับคัดเลือกเป็นนักศึกษาแพทย์แลกเปลี่ยน เพื่อทำงานวิจัย เรื่อง Molecular markers and response to neoadjuvant chemotherapy in gastric cancer ณ Institute of Pathology, Technische Universit?t M?nchen เมืองมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ปีการศึกษา 2550    ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ในการนำเสนอแนวคิดเรื่อง การสร้างแบบจำลองทางไฟฟ้าของระบบประสาท ในงาน Asian Science Camp 2007 ณ กรุงไทเป สาธารณรัฐประชาชนจีน

ปีการศึกษา 2549    ได้รับรางวัล special diploma จากการประกวดผลงานวิจัยเรื่อง สมการการไหลของเลือดในเส้นเลือดแดงใหญ่ ในงาน The XV Annual Sakharov’s Reading ณ Russian Academy of Science: Ioffe Physico-Technical Institute: Lycee Technical High         School เมืองเซนต์ปีเตอร์เบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย

ปีการศึกษา 2548    – ได้รับรางวัลเหรียญเงิน สาขาฟิสิกส์จากการแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกแห่งประเทศไทย

                                     – ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง ในการแข่งขัน Singapore Mathematical Olympiads