ศาสตราจารย์ ดร. วิลเลียม  เทรเก้อร์

ศาสตราจารย์ ดร. วิลเลียม Trager Ph.D.

สหรัฐอเมริกา
2537 in Medicine


ศาสตราจารย์ ดร. วิลเลียม เทรเก้อร์ (William Trager)
มหาวิทยาลัยร็อคกี้เฟลเลอร์ สหรัฐอเมริกา

มีผลงานวิจัยดีเด่นเรื่องมาลาเรีย แม้ว่ามาลาเรียจะได้รับการรักษาและปราบปรามมานานนับสิบปี แต่ปัจจุบันโรคมาลาเรียก็ยังเป็นโรคสำคัญอยู่ ประมาณว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียทั่วโลกปีละ 270 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อปรสิตในตระกูลพลาสโมเดียม โดยมีพาหะเป็นยุงก้นปล่องชนิด Anopheles ลูกน้ำของยุงชนิดนี้มีมากในลำธารน้ำใสที่กระแสน้ำไหลรินช้าๆ แม้จะมียารักษาไข้มาลาเรียที่ใช้ได้ผลหลายชนิดแต่เชื้อชนิดฟัลซิพารัม มีอัตราการดื้อต่อยารักษาชนิดคลอโรควินสูงมาก ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้ยาอื่น ซึ่งราคาแพงกว่า ประกอบกับบางประเทศมีปัญหา ที่คนในประเทศเพื่อนบ้านอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศบ่อยครั้ง จากความวุ่นวายทางการเมือง จึงทำให้การควบคุม และกำจัดกวาดล้างโรคมาลาเรียกระทำได้ยาก ถึงแม้จะมีการวิจัยในเรื่องเชื้อมาลาเรียในหน่วยวิจัยทั่วโลก ซึ่งมุ่งศึกษาถึงชีววิทยาของเชื้อโรค และกลวิธีที่เชื้อมาลาเรียเข้าฝังตัวในเม็ดเลือดแดงและเซลล์อื่นของร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2519 ศาสตราจารย์ ดร.เทรเก้อร์ สามารถหาวิธีเลี้ยงเชื้อมาลาเรียของคนในหลอดแก้วได้สำเร็จ หลังจากที่ศึกษาถึงสารอาหาร และสารเคมีที่จำเป็นในการเลี้ยงเชื้อมาลาเรียของนกได้สำเร็จ และได้ทดลองนำมาประยุกต์และแก้ไขปรับปรุง จนสามารถนำเชื้อมาลาเรียที่มีอยู่ในเม็ดเลือดแดงของมนุษย์มาเลี้ยงในหลอดแก้ว ซึ่งใช้เม็ดเลือดแดงของคนปกติ ผสมรวมกับสารเคมีที่ช่วยทำให้เชื้อมาลาเรียเจริญพันธุ์ทวีจำนวนในหลอดแก้วได้ กรรมวิธีดังกล่าวทำให้สามารถศึกษารายละเอียดของขบวนการที่เชื้อมาลาเรียเข้าไปก่อให้เกิดพยาธิสภาพในคนได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถนำเชื้อที่เลี้ยงจำนวนมาก มาศึกษารายละเอียด หาโครงสร้างเชื้อมาลาเรีย เพื่อนำมาใช้ทำวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียต่อไป ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. เทรเก้อร์ ทำให้เกิดศักราชใหม่ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียอย่างกว้างขวาง ซึ่งแม้ในขณะนี้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็เชื่อได้ว่า ในปลายทศวรรษนี้ หรือต้นทศวรรษหน้า จะมีโอกาสทำวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียได้สำเร็จ โดยอาศัยความรู้ที่ ศาสตราจารย์ ดร. เทรเก้อร์ วางพื้นฐานไว้ให้