ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์

ศาสตราจารย์นายแพทย์ จอห์น ดี. คลีเมนส์

สหรัฐอเมริกา
2561 in Public Health


ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ (Professor John D. Clemens)

ผู้อำนวยการบริหารศูนย์วิจัยโรคท้องร่วงนานาชาติ

ประเทศบังคลาเทศ

ศาสตราจารย์วุฒิคุณระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส 

สหรัฐอเมริกา

 

ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ทำงานร่วมกันเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย และพัฒนาวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน

 

อหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียในทางเดินอาหาร การระบาดทั่วโลกครั้งแรกเกิดขึ้นในศตวรรษที่ ๑๙  นับถึงปัจจุบันมีการระบาดทั่วโลกแล้ว ๗  ครั้ง  มีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้หลายล้านคน  โดยได้มีการใช้วัคซีนป้องกันโรคชนิดฉีดมาเป็นเวลานาน แต่พบว่ามีประสิทธิภาพต่ำ ในช่วงทศวรรษ ๑๙๗๐ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ได้เสนอผลการวิจัยว่าภูมิต้านทานที่สำคัญในการป้องกันอหิวาตกโรคคือชนิดไอจีเอ ซึ่งสร้างขึ้นที่เยื่อบุทางเดินอาหาร และวัคซีนชนิดกินมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันมากกว่าวัคซีนชนิดฉีด  ส่วนศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์  มีบทบาทสำคัญในการศึกษาเพื่อแสดงประสิทธิ- ผลของวัคซีนชนิดกินในการทดสอบทางคลินิก ส่งผลให้องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคควรเป็นชนิดกิน  และยุติการใช้วัคซีนชนิดฉีด

 

วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน ชนิดแรกที่ผลิตขึ้นเรียกว่า ดูโครอล (Dukoral)  แต่มีราคาแพง มีความลำบากในการกิน และมีประสิทธิภาพการป้องกันได้เพียงประมาณร้อยละ ๕๐ ในเวลา ๒ ปี  ในทศวรรษที่ ๒๐๐๐  ศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์   และศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน  ได้ผลิตวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกิน  ชนิดใหม่เรียกว่าชานชอล (Shanchol)     ซึ่งมีราคาถูก และมีประสิทธิภาพการป้องกันสูงได้นานกว่า ๕ ปี  นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวคิดเรื่องภูมิคุ้มกันอาศัยหมู่   โดยพบว่าการให้วัคซีนกับประชากรประมาณร้อยละ ๖๐ (ไม่จำเป็นต้องให้ครบทุกคน)  จะสามารถช่วยป้องกันการระบาดของโรคได้  เพราะเมื่อคนที่ได้รับวัคซีนไม่เป็นโรค  จะช่วยป้องกันคนที่ไม่ได้วัคซีนได้ด้วย เพราะไม่มีการแพร่กระจายของโรค ด้วยแนวคิดนี้ ทำให้องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้วัคซีนชานชอล  ในประเทศที่มีปัญหาการควบคุมอหิวาตกโรคมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๐ และในปี ค.ศ. ๒๐๑๓ องค์การอนามัยโลก และกลุ่มพันธมิตรเพื่อวัคซีน (GAVI)   ได้จัดทำคลังวัคซีนดังกล่าวสำหรับใช้ในการป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรค  โดยเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยงหรือเกิดเหตุฉุกเฉิน ดังเช่นในประเทศเฮติ  หลังจากได้รับผลกระทบจากเฮอริเคนแมทธิว ในปี ค.ศ. ๒๐๑๖   และหลังจากการอพยพของกลุ่มประชากรโรฮิงยาจำนวนมากเข้าสู่ประเทศบังคลาเทศ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๗ ซึ่งเชื่อว่าการให้วัคซีนป้องกันอหิวาตกโรคชนิดกินแก่ประชากรหลายแสนคนในแต่ละเหตุการณ์  ช่วยป้องกันการระบาดของอหิวาตกโรคครั้งใหญ่ได้

 

ผลงานการศึกษาตั้งแต่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างภูมิต้านทานป้องกันอหิวาตกโรค ไปสู่การผลิตวัคซีนชนิดกิน  ที่ได้รับการทดสอบทางคลินิกจนเป็นที่ยอมรับโดยองค์การอนามัยโลกของศาสตราจารย์นายแพทย์จอห์น ดี. คลีเมนส์  และ ศาสตราจารย์นายแพทย์ยอน อาร์. โฮล์มเกรน   ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากวัคซีนชนิดฉีด เป็นการแนะนำให้ใช้วัคซีนชนิดกินแทน และสนับสนุนคลังวัคซีนสำหรับหลายประเทศทั่วโลกที่มีปัญหาหรือมีความเสี่ยงต่อการระบาดของอหิวาตกโรค  ทำให้ช่วยป้องกันโรคได้ในวงกว้าง ลดการเสียชีวิตจากอหิวาตกโรคได้ในประชากรหลายล้านคนทั่วโลก